วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

ครูพลศึกษาแนวใหม่

วิทยานิพนธ์
เรื่อง
รูปแบบการพัฒนาครูในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษาระดับมัธยมศึกษา
โดย
นางสุรีย์    แก้วเศษ
เสนอ
ปริญญาศิลปศาสตรดุษฏีบัณฑิต (พลศึกษา) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2553

1. ชื่อเรื่อง / ผู้วิจัย / ปีที่วิจัย
                รูปแบบการพัฒนาครูในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา  ระดับมัธยมศึกษา
นางสุรีย์   แก้วเศษ              ปี 2553
บทที่ 1   ความสำคัญของปัญหา
                การประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542  แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 ก่อให้เกิดเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาของประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องการจัดการเรียนรู้ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการวัดและประเมินผู้เรียน ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี คนเก่ง และมีความสุข โดยยึดหลักผู้เรียนทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญสุด  ซึ่งกระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติ และเต็มตามศักยภาพ (สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา, 2547 : 12 -15)  สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาที่มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนให้มีมาตรฐานสูงในระดับสากล ภายใน พ.ศ.2550 ซึ่งครูต้องได้รับการพัฒนาให้มีความรู้ความเข้าใจ เปลี่ยนแปลงความเชื่อ แนวคิด และวิธีการปฏิบัติในการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เป็นจริงในยุคโลกาภิวัตน์ โดยระบุแนวทางในการดำเนินงานของโรงเรียน เพื่อปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอน (กระทรวงศึกษาธิการ, 2542: 24-26) ไว้ดังนี้
                1.  จัดกระบวนการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามสภาพจริง (authentic learning) มีวิธีการเรียนรู้และมีทักษะแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง
                2.  จัดทำสาระการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลาง และสอดคล้องกับความสนใจความถนัดความต้องการของผู้เรียน และชุมชน
                3.  จัดบรรยากาศสภาพแวดล้อมและองค์ประกอบอื่น ๆ ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
                4.  ให้บุคลากร องค์กร และสถาบันในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน
                5.  มีการทำวิจัยในชั้นเรียน
                6.  ประเมินผลตามสภาพจริง (authentic assessment) โดยเน้นการประเมินควบคู่ไปกับกระบวนการเรียนการสอน และประเมินจากการปฏิบัติงานจริง (performance-based assessment)
                7.  ให้ผู้เรียนศึกษาค้นคว้าได้ด้วยตนเอง จากแหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ
                8.  มีระบบนิเทศการเรียนการสอนภายใน
                9.  ประชาสัมพันธ์รูปแบบการเรียนการสอนของสถานศึกษา
                ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดทิศทางและมาตรการในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา (สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, 2548: 1-3) เพื่อให้การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในเรื่องการพัฒนาการศึกษาปฐมวัย การปฏิรูปหลักสูตรและการเรียนการสอนการศึกษาขั้นพื้นฐาน การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา การปฏิรูปการอุดมศึกษา ซึ่งกล่าวโดยสรุปได้ว่า พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 มีจุดมุ่งหมายในการปฏิรูปการศึกษา เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีการศึกษาสูงขึ้น ยกระดับความรู้ ความสามารถและทักษะของคนไทยให้สู่ระดับสากล การจัดกระบวนการเรียนการสอน และการประเมินต้องสอดคล้องกับสภาพจริง เพื่อพัฒนาผู้เรียนโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ (ศิริชัย กาญจนวาสี, 2546: 4)
                เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนและการประเมินตามสภาพจริงของครูพลศึกษาให้สอดคล้องกับแนวการจัดการศึกษาและการประเมินตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544  ผู้วิจัยในฐานะศึกษานิเทศน์พลศึกษา ระดับมัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรปราการเขต 1 ได้ทำการนิเทศติดตามการจัดการเรียนรู้และการประเมินของครูพลศึกษา พบว่าส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการประเมินตามสภาพจริง ผู้วิจัยจึงเห็นความจำเป็นในการพัฒนาครูพลศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรปราการเขต 1 ให้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษาได้ ถึงแม้จะมีงานวิจัยเป็นจำนวนมากที่สร้างเครื่องมือการประเมินวิชาพลศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ แต่ครูพลศึกษาก็ไม่อาจนำไปใช้ได้ทั้งหมดเพราะไม่สอดคล้องกับแผนการจัดการเรียนรู้ และขาดความเข้าใจถึงความเป็นมาของเครื่องมือ ดังนั้นถ้าจะให้การประเมินวิชาพลศึกษาครอบคลุมเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.25445  ต้องใช้วิธีที่ทำให้ครูพลศึกษามีความรู้ ความเข้าใจ มีทักษะ และเกิดเจตคติที่ดีต่อการประเมินตามสภาพจริง ทำให้สามารถประเมินได้สอดคล้องกับการจัดการเรียนรู้ ซึ่งผู้วิจัยได้ศึกษาเอกสาร งานวิจัย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อหารูปแบบในการพัฒนาครูพลศึกษาให้เกิดความรู้ความเข้าใจ พฤติกรรมการปฏิบัติ และเจตคติที่ดีต่อการประเมินตามสภาพจริง ซึ่งพบว่า การให้ความรู้ด้วยนวัตกรรม (programmed instruction) สำหรับเป็นนวัตกรรมในการให้ความรู้แก่ครูพลศึกษา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เรื่องการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา เนื่องจากบทเรียนแบบโปรแกรมเป็นนวัตกรรมที่เหมาะสมสำหรับการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นที่ละน้อย สร้างแรงจูงใจที่จะศึกษาอย่างต่อเนื่องด้วยการเห็นคุณค่าของสิ่งที่กระทำและเกิดพฤติกรรมตามสิ่งที่ศึกษาด้วยความพึงพอใจ ซึ่งเป็นไปตามทฤษฏีของ Thorndike และ Skinner  จากเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้ผู้วิจัยสนใจในการใช้บทเรียนแบบโปรแกรมและการนิเทศแบบมีส่วนร่วม มาเป็นรูปแบบในการพัฒนาครู ในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา ระดับมัธยมศึกษา ซึ่งรูปแบบดังกล่าวยังไม่เคยมีผู้ใดทำการวิจัยมาก่อน
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
                1.  เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของบทเรียนแบบโปรแกรม เรื่องการประเมินตามสภาพจริง วิชาพลศึกษาระดับมัธยมศึกษา
                2.  เพื่อศึกษาความสามารถของครูพลศึกษาระดับมัธยมศึกษา ในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา
                3.  เพื่อศึกษาเจตคติของครูพลศึกษา ที่มีต่อรูปแบบการพัฒนาครูในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา  ระดับมัธยมศึกษา
ขอบเขตของการวิจัย
                1.  ประชากรที่ใช้ในการวิจัย เพื่อพัฒนารูปแบบการพัฒนาครูในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษาระดับมัธยมศึกษา คือครูพลศึกษา ที่สอนวิชาพลศึกษา ปีการศึกษา 2551 ในโรงเรียนมัธยมศึกษา (มัธยมศึกษาปีที่ 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 6) และไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ในโรงเรียนรัฐบาล สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรปราการ เขต 1
                2.  การวิจัยรูปแบบการพัฒนาครูในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา ระดับมัธยมศึกษาในครั้งนี้ มุ่งพัฒนารูปแบบการพัฒนาครูโดยใช้บทเรียนแบบโปรแกรม (programmed instruction) และการนิเทศแบบมีส่วนร่วม (collaborative supervision)
                3.  การศึกษาความสามารถของครูพลศึกษา ระดับมัธยมศึกษา ในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษาศึกษาจากสิ่งต่อไปนี้
                                3.1 ด้านความรู้ (knowledge) ของครูพลศึกษาในเรื่องการประเมินตามสภาพจริงหลักจากได้ศึกษาบทเรียนแบบโปรแกรมแล้ว
                                3.2 ด้านพฤติกรรมการปฏิบัติ (practice) ในการนำความรู้เรื่องการประเมินตามสภาพจริงไปปฏิบัติในการประเมินผู้เรียนวิชาพลศึกษาในระดับชั้นเรียน
                                3.3 ด้านเจตคติ (attitude) ของครูพลศึกษาที่มีต่อการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา
                4.  ตัวแปรที่ศึกษา
                                4.1 ตัวแปรอิสระ คือ รูปแบบการพัฒนาครูพลศึกษา ระดับมัธยมศึกษาโดยใช้บทเรียนแบบโปรแกรม และการนิเทศแบบมีส่วนร่วม
                                4.2 ตัวแปรตาม คือ
                                                4.2.1 ความสามารถของครูพลศึกษาในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษาในด้านความรู้ พฤติกรรมการปฏิบัติ และเจตคติ
                                                4.2.2 เจตคติของครูพลศึกษาที่มีต่อรูปแบบการพัฒนาครูโดยใช้บทเรียนแบบโปรแกรม และ  การนิเทศแบบมีส่วนร่วม
                ในการดำเนินการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ทำการตรวจสอบเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาครูในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา ระดับมัธยมศึกษา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยแบ่งกลุ่มเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง  ออกเป็น 4 ตอน ดังนี้
                ตอนที่ 1 หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544
                                1.1 สาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา
                                1.2 การจัดกระบวนการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา
                                1.3 การวัดและประเมินการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา
                                1.4 แนวความคิดเกี่ยวกับการประเมินการเรียนรู้ทางพลศึกษา
                                1.5 ประโยชน์ของการวัดและประเมินทางพลศึกษา
                ตอนที่ 2 การประเมินตามสภาพจริง
                                2.1 ความหมายและความเป็นมาของการประเมินตามสภาพจริง
                                2.2 ความสำคัญและหลักการของการประเมินตามสภาพจริง
                                2.3 คุณลักษณะของการประเมินตามสภาพจริง
                                2.4 วิธีการประเมินตามสภาพจริงทางพลศึกษา
                                2.5 หลักเกณฑ์และวิธีการให้คะแนนตามแนวทางของการประเมินตามสภาพจริง
                ตอนที่ 3 หลักการ แนวคิด ทฤษฏี ที่ใช้ในการวิจัย
                                3.1 ทฤษฎีและหลักการที่เกี่ยวข้องกับการประเมินตามสภาพจริง
                                3.2 แนวคิด ทฤษฏี ของการประเมินตามวัตถุประสงค์
                                3.3 แนวคิด ทฤษฏี ในการสร้างบทเรียนแบบโปรแกรม
                                3.4 แนวคิด ทฤษฏี ของการฝึกอบรม
                                3.5 แนวคิด ทฤษฏีของการนิเทศการสอน
                                3.6 แนวคิด ทฤษฏีในการสร้างแบบประเมิน
                ตอนที่ 4 งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
                                4.1 งานวิจัยในประเทศ
                                4.2 งานวิจัยต่างประเทศ
เครื่องที่ใช้ในการวิจัย
                ผู้วิจัยกำหนดเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย 5 ประเภท ดังนี้
1.  บทเรียนแบบโปรแกรมเรื่องการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษาระดับมัธยมศึกษา
2.  แบบทดสอบความรู้ก่อนและหลังการศึกษาบทเรียนแบบโปรแกรมเรื่องการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษาระดับมัธยมศึกษา
3. แบบประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติของครูพลศึกษาในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลชศึกษาระดับมัธยมศึกษา
4. แบบประเมินเจตคติของครูพลศึกษาที่มีต่อการประเมินตามสภาพจริง
5. แบบประเมินเจตคติของครูพลศึกษาที่มีต่อรูปแบบการพัฒนาครูในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษาระดับมัธยมศึกษา
ขั้นตอนการสร้างเครื่องมือ
1.  บทเรียนแบบโปรแกรม  เรื่องการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษาระดับมัธยมศึกษา
1.1  ศึกษาเอกสาร ตำรา ที่เกี่ยวข้องกับบทเรียนแบบโปรแกรม
1.2  กำหนดหน่วยการเรียนรู้ เกี่ยวกับการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา 4 หน่วย
1.3  กำหนดวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมของแต่ละหน่วยการเรียนรู้
1.4  เขียนเนื้อหาของบทเรียน โดยเริ่มจากการให้ความรู้  กิจกรรมหรือ แบบฝึกหัด  เฉลยคำตอบ 1.5   วิเคราะห์เนื้อหาสาระในบทเรียนแบบโปรแกรมกับพฤติกรรมที่ต้องการวัดเรื่องการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา ระดับมัธยมศึกษา ตามตารางการวิเคราะห์แบบอิงเกณฑ์
1.6  ผู้วิจัยกำหนดเกณฑ์มาตรฐานของบทเรียนแบบโปรแกรม เรื่อง การประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา ระดับมัธยมศึกษา คือ 80/80 (ธีระชัย  ปูรณโชติ, 2532: 36)
        80 ตัวแรก หมายถึง ครูพลศึกษาทุกคนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างสามารถตอบคำถามจากกิจกรรมของบทเรียนแบบโปรแกรม ได้คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 80
        80 ตัวหลัง หมายถึง ครูพลศึกษาทุกคนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างสามารถทำแบบทดสอบหลังจากศึกษาบทเรียนแบบโปรแกรมแล้ว ได้คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 80
1.7       นำบทเรียนแบบโปรแกรมที่ผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ และปรับปรุงแก้ไขแล้ว  ไปให้ผู้เชี่ยวชาญทำการตรวจสอบ เพื่อหาความเที่ยงตรงของเนื้อหา และความเป็นปรนัย    ซึ่งผู้วิจัยได้กำหนดคุณสมบัติของผู้เชี่ยวชาญ ดังนี้
1.7.1                   มีคุณวุฒิระดับปริญญาโท หรือเอก
1.7.2                   มีความรู้และประสบการณ์สาขาการวัดและประเมินผล
1.7.3                   มีความรู้และประสบการณ์สาขาวิชาพลศึกษา
1.7.4                   มีความรู้และประสบการณ์ด้านการนิเทศการศึกษา
1.7.5                   มีความรู้และประสบการณ์ในการเขียนเอกสาร ตำรา ประกอบการสอน
การหาค่าเที่ยงตรง และความเป็นปรนัย ของบทเรียนแบบโปรแกรม ตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ
1.8       วิเคราะห์ความเหมาะสมของบทเรียนแบบโปรแกรมเรื่องการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา  ระดับมัธยมศึกษา  ตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ  โดยการวิเคราะห์ค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตราฐาน  ได้ภาพรวมทั้งบทเรียนมีความเหมาะสมผู้ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ย 3.92
2.  แบบทดสอบความรู้ก่อนและหลังการศึกษาบทเรียนแบบโปรแกรมเรื่องการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา  ระดับมัธยมศึกษา  ผู้วิจัยมีขั้นตอนในการสร้าง ดังนี้
2.1  ศึกษาวิธีการ  แนวคิด ทฤษฎี การสร้างแบบทดสอบ
2.2  กำหนดจำนวนข้อคำถามให้ครอบคลุมพฤติกรรมที่ต้องการวัด
2.3  สร้างแบบทดสอบความรู้ก่อนและหลังการศึกษาบทเรียนแบบโปรแกรมให้ครอบคลุมเนื้อหาสาระและพฤติกรรมที่ต้องการวัด
2.4  หาค่าความเที่ยงตรง  และความเป็นปรนัย ของแบบทดสอบความรู้โดยการนำแบบทดสอบความรู้ไปให้  ผู้เชี่ยวชาญวิคราะห์หาคุณภาพด้านความเที่ยงตรงของเนื้อหา ตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ
2.5  หาค่าความเชื่อมั่น ของแบบทดสอบความรู้ก่อนและหลังการศึกษาบทเรียนแบบโปรแกรม
                3.  แบบประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติกรรมการปฏิบัติของครูพลศึกษาในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษาระดับมัธยมศึกษา ผู้วิจัยมีขั้นตอนในการสร้าง ดังนี้
                     3.1  ศึกษาประเภทและหลักการประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติของครูพลศึกษาในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา
                      3.2  ศึกษาแนวคิด และวิธีการสร้างแบบประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติ (บุญธรรม  กิจปรีดาบริสุทธิ์, 2540: 232-235)
                      3.3  สร้างแบบประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติของครูพลศึกษาในการประเมินตามสภาพจริง          วิชาพลศึกษา มีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า
                      3.4  วิเคราะห์ความเหมาะสมของแบบประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติของครูพลศึกษาในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา  ตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ  เพื่อหาคุณภาพด้านความเที่ยงตรงของเนื้อหา  และความเป็นปรนัย โดยการวิเคราะห์ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ได้ภาพรวมของแบบประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติ มีความเหมาะสม อยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ย 4.02 
                       3.5  หาค่าความเชื่อมั่น  ของแบบประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติของครูพลศึกษาในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา โดยนำแบบประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติที่ได้หาคุณภาพความเที่ยงตรงของเนื้อหาแล้ว ไปทดลองใช้กับครูพลศึกษาที่เคยผ่านการอบรมเรื่องการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษามาแล้วและไม่ใช้กลุ่มตัวอย่าง  จำนวน 40 คน  หาค่าความเชื่อมั่น โดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์อัลฟา  (บุญเรียง  ขจรศิลป์, 2548: 60-61) ได้ค่าความเชื่อมั่น 0.74
                     3.6  วิเคราะห์ค่าอำนจจำแนก (r)  โดยการนำแบบปะเมินพฤติกรรมการปฏิบัติที่ได้หาคุณภาพด้านความเที่ยงตรงของเนื้อหาวิชาพลศึกษามาแล้ว  จำนวน 40 คน ได้ค่าอำนาจจำแนก (r)  ระหว่า 0.26-0.88
                4.  แบบประเมินเจตคติของครูพลศึกษาที่มีต่อการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษาผู้วิจัยมีขั้นตอนในการสร้าง ดังนี้
                     4.1   ศึกษาหลักการ  แนวคิด  ทฤษฎี การสร้างแบบประเมินเจตคติ  (บุญธรรม  กิจปรีดาบริสุทธิ์, 2540: 239-261)
                     4.2  สร้างแบบประเมินเจตคติของครูพลศึกษาที่มีต่อการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา  มีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (rating scales)
                    4.3  วิเคราะห์ความเหมาะสมของแบบประเมินเจตคคติของครูพลศึกษาที่มีต่อการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา  ระดับมัธยมศึกษา ตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาคุณภาพด้านความเที่ยงตรงของเนื้อหา (content validity)  โดยการวิเคราะห์ค่าเฉลี่ย  และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน  ได้ภาพความรวมของแบบประเมินเจตคติ ความเหมาะสม อยู่ในระดับมาก ทุกข้อ
                    4.4  วิเคราะห์ ค่าความเชื่อมั่น (reliability)  โดยการนำแบบประเมินเจตคติของครูพลศึกษาที่มีต่อการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา  ที่ได้หาคุณภาพด้านความเที่ยงตรงของเนื้อหาแล้ว ไปทดสอบกับครูพลศึกษาที่เคยผ่านการอบรมเรื่องการประเมินตรมสภาพจริงวิชาพลศึกษามาแล้ว จำนวน 40 คน หาค่าความเชื่อมั่น (reliability)                            ด้วยสูตรสัมระสิทธิ์อัลฟา ของ Cronbach (บุญเรียง  ขจรศิลป์, 2548: 60-61)  ได้ค่าความเชื่อมั่น 0.76
                    4.5  วิเคราะห์ค่าอำนาจจำแนก  (r)  โดยการนำแบบประเมินเจตคติของครูพลศึกษาที่มีต่อการประเมินตาม สภาพจริงวิชาพลศึกษา  ที่ได้หาคุณภาพด้านความเที่ยงตรงของเนื้อหาแล้วไปทดสอบกับครูพลศึกษาที่เคยผ่านการอบรมเรื่องการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษามาแล้ว จำนวน 40 คน ได้ค่าอำนาจจำแนก (r) ระหว่าง 0.20 – 0.54
                5.  แบบประเมินเจตคติของครูพลศึกษาที่มีต่อรูปแบบการพัฒนาครูในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา ระดับมัธยมศึกษา ผู้วิจัยมีขั้นตอนในการสร้าง ดังนี้
                    5.1  ศึกษาหลักการ  แนวคิด ทฤษฎี  การสร้างแบบประเมินเจตคติ (บุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธิ์, 2540: 239-261)
                    5.2  สร้างแบบประเมินเจตคติของครูพลศึกษาที่มีต่อรูปแบบการพัฒนาครูในการประมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา ระดับมัธยมศึกษา มีลักษณะเป็นแบบมาตรส่วนประมาณค่า (rating scales)
                    5.3  วิเคราะห์ความเหมาะสมของแบบประเมินเจตคติของครูพบศึกษาที่มีต่อรูปแบบการพัฒนาครูในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา ระดับมัธยมศึกษา   ตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ  เพื่อหาคุณภาพด้านความเที่ยงตรงของเนื้อหา (content validity)  โดยการวิเคราะห์ ค่าเฉลี่ย  และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ได้ภาพรวมของแบบประเมินเจตคติ  ความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย 4.2  
                   5.4  วิเคราะห์ค่าความเชื่อมั่น  โดยการนำแบบประเมินเจตคติของครูพลศึกษาที่มีต่อรูปแบบการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา  ระดับมัธยมศึกษา  ที่ได้หาคุณภาพด้านความเที่ยงตรงของเนื้อหาแล้ว  ไปทดสอบกับครูพบศึกษา ที่เคยศึกษาบทเรียนแบบโปรแกรมหรือเคยศึกษาแนวทางการศึกษาชุดวิชาของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชและผ่านการอบรมเรื่องการประเมินตรมสภาพจริงวิชาพลศึกษามาแล้ว  จำนวน 40 คน  หาค่าความเชื่อมั่น  ด้วยสูตรสัมประสิทธิ์อัลฟา (บุญเรียง  ขจรศิลป์, 2548: 60-61) ได้ค่าความเชื่อมั่น 0.72
                    5.5  วิเคราะห์ค่าอำนาจจำแนก (r)  โดยการนำแบบประเมินเจตคติของครูพลศึกษาที่มีต่อรูปแบบการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา  ระดับมัธยมศึกษา   ที่ได้หาคุณภาพด้านความเที่ยงตรงของเนื้อหาแล้ว  ไปทดสอบกับกับครูพลศึกษาที่เคยศึกษาบทเรียนแบบโปรแกรม หรือเคย ศึกษาแนวการศึกษาชุดวิชาของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชและผ่านการอบรมเรื่องการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษามาแล้ว จำนวน 40 คน ได้ค่าอำนาจจำแนก (r) ระหว่าง 0.20-0.44
                    ผู้วิจัยได้กำหนดรูปแบบการพัฒนาครูในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษาระดับมัธยมศึกษา  โดยการ   ใช้บทเรียนแบบโปรแกรม (programmed instruction) และการนิเทศแบบมีส่วมร่วม (collaborative supervision)              และเพื่อให้เห็นภาพของนวัตกรรมและวิธีการที่ใช้ในการดำเนินงานวิจัย  ซึ่งสรุปเป็นแผนภูมิได้ดังนี้
การศึกษาบทเรียนแบบโปรแกรม
การนิเทศการศึกษา
การศึกษาบทเรียนแบบโปรแกรมเรื่องการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา ระดับมัธยมศึกษา (programmed instruction)
วัตถุประสงค์
เพื่อให้ครูพลศึกษามีความรู้เรื่องการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา  ระดับมัธยมศึกษา
การใช้พฤติกรรมการนิเทศแบบมีส่วนร่วม (collaborative supervision)
วัตถุประสงค์
       1.  เพื่อให้คำแนะนำในการสร้างแบบประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา
       2.  เพื่อติดตามผลการใช้แบบประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา
       3. เพื่อประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา
       4. เพื่อประเมินเจตคติของครูพลศึกษา ที่มีต่อการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา
       5.  เพื่อประเมินเจตคติของครูพลศึกษาที่มีต่อรูปแบบการพัฒนาครูในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษาระดับมัธยมศึกษา โดยใช้บทเรียนแบบโปรแกรมและการนิเทศแบบมีส่วนร่วม
กิจกรรม
ครูพลศึกษาทำการศึกษาบทเรียนแบบโปรแกรมเรื่องการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา  ระดับมัธยมศึกษา โดปฏิบัติตามขั้นตอนของการศึกษาบทเรียนแบบโปรแกรม
กิจกรรม
       1.  ประชุมปรึกษาหารือ (conference) แลกเปลี่ยนความคิดเห็น
       2.  ประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติของครูพลศึกษาเกี่ยวกับการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา  โดยครูพลศึกษาประเมินตนเอง  และเมินโดยหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้
        3.  ประเมินเจตคติของครูพลศึกษาเกี่ยวกับการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา  และประเมินรูปแบบการพัฒนาครู
เครื่องมือ                                                                                               1. บทเรียนแบบโปรแกรมเรื่องการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา ระดับมัธยมศึกษา                                                         2.  แบบทดสอบความรู้ เรื่องการการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา
เครื่องมือ
       1.  แบบประเมินพฤตกรรมการปฏิบัติในการประเมินตมสภาพจริงวิชาพลศึกษา
        2.  แบบประเมินเจตคติของครูพลศึกษาที่มีต่อการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา
        3.  แบบประเมินเจตคติของครูพลศึกษาที่มีต่อรูปแบบการพัฒนาครู
ผลที่ได้
ครูพลศึกษามีความรู้เรื่องการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา
ผลที่ได้
       1. เกิดพัฒนาการด้านความรู้ พฤติกรรมการปฏิบัติและเจตคติของครูพลศึกษาที่มีต่อการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา
       2.    เจตคติของครูพลศึกษาที่มีต่อรูปแบบการพัฒนาครูอยู่ในระดับมาก

4.3  การเก็บรวบรวมข้อมูล
ผู้วิจัยได้ดำเนินการวิจัยดังนี้
1. ผู้วิจัยนำหนังสือราชการจากบัณฑิตวิทยาลัยถึงสำนักงานเขตพื้นที่สมุทรปราการ  เขต1 ขอความอนุเคราะห์แจ้งโรงเรียนเพื่อให้ผู้วิจัยเข้าไปเก็บรวบรวมข้อมูลจากครูพลศึกษา ที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง  จำนวน  5 โรงเรียน
2. ผู้วิจัยเข้าโรงเรียนด้วยตนเอง เพื่อแนะนำและชี้แจงวิธีการศึกษาบทเรียนแบบโปรแกรมเรื่องการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา ระดับมัธยมศึกษาให้กับครูพลศึกษาทั้งหมดจำนวน 29 คน โดยผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลจากการทดสอบของครูพลศึกษาก่อนศึกษาบทเรียนแบบโปรแกรม
3. ครูพลศึกษาจำนวน 29 คน ทำการศึกษาบทเรียนแบบโปรแกรม เรื่องการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา ระดับมัธยมศึกษา และส่งผลการศึกษาจากการทำกิจกรรมท้ายเรื่องและผลการทดสอบหลังศึกษาบทเรียนแบบโปรแกรมให้      กับผู้วิจัยหลังจากศึกษาบทเรียนแบบโปรแกรมเสร็จสิ้นเป็นรายบุคคล
4. ผู้วิจัยทำการนิเทศแบบมีส่วนร่วม โรงเรียนละ 3 ครั้ง และทำการนิเทศครบทั้ง 5 โรงเรียน ใช้เวลา 1 ภาคการศึกษา (เดือนพฤศจิกายน 2551-เดือนมีนาคม 2552)
5. ผู้วิจัยดำเนินการเก็บรวบรวมแบบประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติ แบบประเมินเจตคตที่มีต่อการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา และแบบประเมินเจตคติที่มีต่อรูปแบบการพัฒนาครูในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษาระดับมัธยมศึกษา และนำมาวิเคราะห์ผลทางสถิติ
5. สรุปผลการวิจัย
                ผลการวิจัยพบว่า 1)ประสิทธิภาพบทเรียนแบบโปรแกรมเรื่องการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษาระดับมัธยมศึกษา เท่ากับ 80.06/80.57 2)ความสามารถของครูพลศึกษา ระดับมัธยมศึกษา ด้านความรู้ในการประเมินตามสภาพจริง หลังศึกษาบทเรียนแบบโปรแกรม เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01 ด้านพฤติกรรมการปฏิบัติและเจตคติของครูพลศึกษาที่มีต่อการประเมินตามสภาพจริง อยู่ในระดับดีมาก และ 3) เจตคติของครูพลศึกษา ระดับมัธยมศึกษาที่มีต่อรูปแบบการพัฒนาครูโดยการใช้บทเรียนแบบโปรแกรมและการนิเทศแลลมีส่วนร่วมอยู่ในระดับดีมาก
                สรุปได้ว่า การใช้บทเรียนแบบโปรแกรมและการนิเทศแบบมีส่วนร่วม PCo Model มีความเหมาะสมในการพัฒนาครูพลศึกษา ระดับมัธยม ในการประเมินตามสภาพจริง