วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

ครูพลศึกษาแนวใหม่

วิทยานิพนธ์
เรื่อง
รูปแบบการพัฒนาครูในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษาระดับมัธยมศึกษา
โดย
นางสุรีย์    แก้วเศษ
เสนอ
ปริญญาศิลปศาสตรดุษฏีบัณฑิต (พลศึกษา) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2553

1. ชื่อเรื่อง / ผู้วิจัย / ปีที่วิจัย
                รูปแบบการพัฒนาครูในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา  ระดับมัธยมศึกษา
นางสุรีย์   แก้วเศษ              ปี 2553
บทที่ 1   ความสำคัญของปัญหา
                การประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542  แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 ก่อให้เกิดเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาของประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องการจัดการเรียนรู้ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการวัดและประเมินผู้เรียน ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี คนเก่ง และมีความสุข โดยยึดหลักผู้เรียนทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญสุด  ซึ่งกระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติ และเต็มตามศักยภาพ (สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา, 2547 : 12 -15)  สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาที่มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนให้มีมาตรฐานสูงในระดับสากล ภายใน พ.ศ.2550 ซึ่งครูต้องได้รับการพัฒนาให้มีความรู้ความเข้าใจ เปลี่ยนแปลงความเชื่อ แนวคิด และวิธีการปฏิบัติในการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เป็นจริงในยุคโลกาภิวัตน์ โดยระบุแนวทางในการดำเนินงานของโรงเรียน เพื่อปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอน (กระทรวงศึกษาธิการ, 2542: 24-26) ไว้ดังนี้
                1.  จัดกระบวนการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามสภาพจริง (authentic learning) มีวิธีการเรียนรู้และมีทักษะแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง
                2.  จัดทำสาระการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลาง และสอดคล้องกับความสนใจความถนัดความต้องการของผู้เรียน และชุมชน
                3.  จัดบรรยากาศสภาพแวดล้อมและองค์ประกอบอื่น ๆ ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
                4.  ให้บุคลากร องค์กร และสถาบันในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน
                5.  มีการทำวิจัยในชั้นเรียน
                6.  ประเมินผลตามสภาพจริง (authentic assessment) โดยเน้นการประเมินควบคู่ไปกับกระบวนการเรียนการสอน และประเมินจากการปฏิบัติงานจริง (performance-based assessment)
                7.  ให้ผู้เรียนศึกษาค้นคว้าได้ด้วยตนเอง จากแหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ
                8.  มีระบบนิเทศการเรียนการสอนภายใน
                9.  ประชาสัมพันธ์รูปแบบการเรียนการสอนของสถานศึกษา
                ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดทิศทางและมาตรการในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา (สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, 2548: 1-3) เพื่อให้การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในเรื่องการพัฒนาการศึกษาปฐมวัย การปฏิรูปหลักสูตรและการเรียนการสอนการศึกษาขั้นพื้นฐาน การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา การปฏิรูปการอุดมศึกษา ซึ่งกล่าวโดยสรุปได้ว่า พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 มีจุดมุ่งหมายในการปฏิรูปการศึกษา เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีการศึกษาสูงขึ้น ยกระดับความรู้ ความสามารถและทักษะของคนไทยให้สู่ระดับสากล การจัดกระบวนการเรียนการสอน และการประเมินต้องสอดคล้องกับสภาพจริง เพื่อพัฒนาผู้เรียนโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ (ศิริชัย กาญจนวาสี, 2546: 4)
                เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนและการประเมินตามสภาพจริงของครูพลศึกษาให้สอดคล้องกับแนวการจัดการศึกษาและการประเมินตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544  ผู้วิจัยในฐานะศึกษานิเทศน์พลศึกษา ระดับมัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรปราการเขต 1 ได้ทำการนิเทศติดตามการจัดการเรียนรู้และการประเมินของครูพลศึกษา พบว่าส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการประเมินตามสภาพจริง ผู้วิจัยจึงเห็นความจำเป็นในการพัฒนาครูพลศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรปราการเขต 1 ให้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษาได้ ถึงแม้จะมีงานวิจัยเป็นจำนวนมากที่สร้างเครื่องมือการประเมินวิชาพลศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ แต่ครูพลศึกษาก็ไม่อาจนำไปใช้ได้ทั้งหมดเพราะไม่สอดคล้องกับแผนการจัดการเรียนรู้ และขาดความเข้าใจถึงความเป็นมาของเครื่องมือ ดังนั้นถ้าจะให้การประเมินวิชาพลศึกษาครอบคลุมเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.25445  ต้องใช้วิธีที่ทำให้ครูพลศึกษามีความรู้ ความเข้าใจ มีทักษะ และเกิดเจตคติที่ดีต่อการประเมินตามสภาพจริง ทำให้สามารถประเมินได้สอดคล้องกับการจัดการเรียนรู้ ซึ่งผู้วิจัยได้ศึกษาเอกสาร งานวิจัย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อหารูปแบบในการพัฒนาครูพลศึกษาให้เกิดความรู้ความเข้าใจ พฤติกรรมการปฏิบัติ และเจตคติที่ดีต่อการประเมินตามสภาพจริง ซึ่งพบว่า การให้ความรู้ด้วยนวัตกรรม (programmed instruction) สำหรับเป็นนวัตกรรมในการให้ความรู้แก่ครูพลศึกษา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เรื่องการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา เนื่องจากบทเรียนแบบโปรแกรมเป็นนวัตกรรมที่เหมาะสมสำหรับการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นที่ละน้อย สร้างแรงจูงใจที่จะศึกษาอย่างต่อเนื่องด้วยการเห็นคุณค่าของสิ่งที่กระทำและเกิดพฤติกรรมตามสิ่งที่ศึกษาด้วยความพึงพอใจ ซึ่งเป็นไปตามทฤษฏีของ Thorndike และ Skinner  จากเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้ผู้วิจัยสนใจในการใช้บทเรียนแบบโปรแกรมและการนิเทศแบบมีส่วนร่วม มาเป็นรูปแบบในการพัฒนาครู ในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา ระดับมัธยมศึกษา ซึ่งรูปแบบดังกล่าวยังไม่เคยมีผู้ใดทำการวิจัยมาก่อน
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
                1.  เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของบทเรียนแบบโปรแกรม เรื่องการประเมินตามสภาพจริง วิชาพลศึกษาระดับมัธยมศึกษา
                2.  เพื่อศึกษาความสามารถของครูพลศึกษาระดับมัธยมศึกษา ในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา
                3.  เพื่อศึกษาเจตคติของครูพลศึกษา ที่มีต่อรูปแบบการพัฒนาครูในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา  ระดับมัธยมศึกษา
ขอบเขตของการวิจัย
                1.  ประชากรที่ใช้ในการวิจัย เพื่อพัฒนารูปแบบการพัฒนาครูในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษาระดับมัธยมศึกษา คือครูพลศึกษา ที่สอนวิชาพลศึกษา ปีการศึกษา 2551 ในโรงเรียนมัธยมศึกษา (มัธยมศึกษาปีที่ 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 6) และไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ในโรงเรียนรัฐบาล สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรปราการ เขต 1
                2.  การวิจัยรูปแบบการพัฒนาครูในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา ระดับมัธยมศึกษาในครั้งนี้ มุ่งพัฒนารูปแบบการพัฒนาครูโดยใช้บทเรียนแบบโปรแกรม (programmed instruction) และการนิเทศแบบมีส่วนร่วม (collaborative supervision)
                3.  การศึกษาความสามารถของครูพลศึกษา ระดับมัธยมศึกษา ในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษาศึกษาจากสิ่งต่อไปนี้
                                3.1 ด้านความรู้ (knowledge) ของครูพลศึกษาในเรื่องการประเมินตามสภาพจริงหลักจากได้ศึกษาบทเรียนแบบโปรแกรมแล้ว
                                3.2 ด้านพฤติกรรมการปฏิบัติ (practice) ในการนำความรู้เรื่องการประเมินตามสภาพจริงไปปฏิบัติในการประเมินผู้เรียนวิชาพลศึกษาในระดับชั้นเรียน
                                3.3 ด้านเจตคติ (attitude) ของครูพลศึกษาที่มีต่อการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา
                4.  ตัวแปรที่ศึกษา
                                4.1 ตัวแปรอิสระ คือ รูปแบบการพัฒนาครูพลศึกษา ระดับมัธยมศึกษาโดยใช้บทเรียนแบบโปรแกรม และการนิเทศแบบมีส่วนร่วม
                                4.2 ตัวแปรตาม คือ
                                                4.2.1 ความสามารถของครูพลศึกษาในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษาในด้านความรู้ พฤติกรรมการปฏิบัติ และเจตคติ
                                                4.2.2 เจตคติของครูพลศึกษาที่มีต่อรูปแบบการพัฒนาครูโดยใช้บทเรียนแบบโปรแกรม และ  การนิเทศแบบมีส่วนร่วม
                ในการดำเนินการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ทำการตรวจสอบเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาครูในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา ระดับมัธยมศึกษา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยแบ่งกลุ่มเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง  ออกเป็น 4 ตอน ดังนี้
                ตอนที่ 1 หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544
                                1.1 สาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา
                                1.2 การจัดกระบวนการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา
                                1.3 การวัดและประเมินการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา
                                1.4 แนวความคิดเกี่ยวกับการประเมินการเรียนรู้ทางพลศึกษา
                                1.5 ประโยชน์ของการวัดและประเมินทางพลศึกษา
                ตอนที่ 2 การประเมินตามสภาพจริง
                                2.1 ความหมายและความเป็นมาของการประเมินตามสภาพจริง
                                2.2 ความสำคัญและหลักการของการประเมินตามสภาพจริง
                                2.3 คุณลักษณะของการประเมินตามสภาพจริง
                                2.4 วิธีการประเมินตามสภาพจริงทางพลศึกษา
                                2.5 หลักเกณฑ์และวิธีการให้คะแนนตามแนวทางของการประเมินตามสภาพจริง
                ตอนที่ 3 หลักการ แนวคิด ทฤษฏี ที่ใช้ในการวิจัย
                                3.1 ทฤษฎีและหลักการที่เกี่ยวข้องกับการประเมินตามสภาพจริง
                                3.2 แนวคิด ทฤษฏี ของการประเมินตามวัตถุประสงค์
                                3.3 แนวคิด ทฤษฏี ในการสร้างบทเรียนแบบโปรแกรม
                                3.4 แนวคิด ทฤษฏี ของการฝึกอบรม
                                3.5 แนวคิด ทฤษฏีของการนิเทศการสอน
                                3.6 แนวคิด ทฤษฏีในการสร้างแบบประเมิน
                ตอนที่ 4 งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
                                4.1 งานวิจัยในประเทศ
                                4.2 งานวิจัยต่างประเทศ
เครื่องที่ใช้ในการวิจัย
                ผู้วิจัยกำหนดเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย 5 ประเภท ดังนี้
1.  บทเรียนแบบโปรแกรมเรื่องการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษาระดับมัธยมศึกษา
2.  แบบทดสอบความรู้ก่อนและหลังการศึกษาบทเรียนแบบโปรแกรมเรื่องการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษาระดับมัธยมศึกษา
3. แบบประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติของครูพลศึกษาในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลชศึกษาระดับมัธยมศึกษา
4. แบบประเมินเจตคติของครูพลศึกษาที่มีต่อการประเมินตามสภาพจริง
5. แบบประเมินเจตคติของครูพลศึกษาที่มีต่อรูปแบบการพัฒนาครูในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษาระดับมัธยมศึกษา
ขั้นตอนการสร้างเครื่องมือ
1.  บทเรียนแบบโปรแกรม  เรื่องการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษาระดับมัธยมศึกษา
1.1  ศึกษาเอกสาร ตำรา ที่เกี่ยวข้องกับบทเรียนแบบโปรแกรม
1.2  กำหนดหน่วยการเรียนรู้ เกี่ยวกับการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา 4 หน่วย
1.3  กำหนดวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมของแต่ละหน่วยการเรียนรู้
1.4  เขียนเนื้อหาของบทเรียน โดยเริ่มจากการให้ความรู้  กิจกรรมหรือ แบบฝึกหัด  เฉลยคำตอบ 1.5   วิเคราะห์เนื้อหาสาระในบทเรียนแบบโปรแกรมกับพฤติกรรมที่ต้องการวัดเรื่องการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา ระดับมัธยมศึกษา ตามตารางการวิเคราะห์แบบอิงเกณฑ์
1.6  ผู้วิจัยกำหนดเกณฑ์มาตรฐานของบทเรียนแบบโปรแกรม เรื่อง การประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา ระดับมัธยมศึกษา คือ 80/80 (ธีระชัย  ปูรณโชติ, 2532: 36)
        80 ตัวแรก หมายถึง ครูพลศึกษาทุกคนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างสามารถตอบคำถามจากกิจกรรมของบทเรียนแบบโปรแกรม ได้คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 80
        80 ตัวหลัง หมายถึง ครูพลศึกษาทุกคนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างสามารถทำแบบทดสอบหลังจากศึกษาบทเรียนแบบโปรแกรมแล้ว ได้คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 80
1.7       นำบทเรียนแบบโปรแกรมที่ผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ และปรับปรุงแก้ไขแล้ว  ไปให้ผู้เชี่ยวชาญทำการตรวจสอบ เพื่อหาความเที่ยงตรงของเนื้อหา และความเป็นปรนัย    ซึ่งผู้วิจัยได้กำหนดคุณสมบัติของผู้เชี่ยวชาญ ดังนี้
1.7.1                   มีคุณวุฒิระดับปริญญาโท หรือเอก
1.7.2                   มีความรู้และประสบการณ์สาขาการวัดและประเมินผล
1.7.3                   มีความรู้และประสบการณ์สาขาวิชาพลศึกษา
1.7.4                   มีความรู้และประสบการณ์ด้านการนิเทศการศึกษา
1.7.5                   มีความรู้และประสบการณ์ในการเขียนเอกสาร ตำรา ประกอบการสอน
การหาค่าเที่ยงตรง และความเป็นปรนัย ของบทเรียนแบบโปรแกรม ตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ
1.8       วิเคราะห์ความเหมาะสมของบทเรียนแบบโปรแกรมเรื่องการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา  ระดับมัธยมศึกษา  ตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ  โดยการวิเคราะห์ค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตราฐาน  ได้ภาพรวมทั้งบทเรียนมีความเหมาะสมผู้ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ย 3.92
2.  แบบทดสอบความรู้ก่อนและหลังการศึกษาบทเรียนแบบโปรแกรมเรื่องการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา  ระดับมัธยมศึกษา  ผู้วิจัยมีขั้นตอนในการสร้าง ดังนี้
2.1  ศึกษาวิธีการ  แนวคิด ทฤษฎี การสร้างแบบทดสอบ
2.2  กำหนดจำนวนข้อคำถามให้ครอบคลุมพฤติกรรมที่ต้องการวัด
2.3  สร้างแบบทดสอบความรู้ก่อนและหลังการศึกษาบทเรียนแบบโปรแกรมให้ครอบคลุมเนื้อหาสาระและพฤติกรรมที่ต้องการวัด
2.4  หาค่าความเที่ยงตรง  และความเป็นปรนัย ของแบบทดสอบความรู้โดยการนำแบบทดสอบความรู้ไปให้  ผู้เชี่ยวชาญวิคราะห์หาคุณภาพด้านความเที่ยงตรงของเนื้อหา ตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ
2.5  หาค่าความเชื่อมั่น ของแบบทดสอบความรู้ก่อนและหลังการศึกษาบทเรียนแบบโปรแกรม
                3.  แบบประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติกรรมการปฏิบัติของครูพลศึกษาในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษาระดับมัธยมศึกษา ผู้วิจัยมีขั้นตอนในการสร้าง ดังนี้
                     3.1  ศึกษาประเภทและหลักการประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติของครูพลศึกษาในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา
                      3.2  ศึกษาแนวคิด และวิธีการสร้างแบบประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติ (บุญธรรม  กิจปรีดาบริสุทธิ์, 2540: 232-235)
                      3.3  สร้างแบบประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติของครูพลศึกษาในการประเมินตามสภาพจริง          วิชาพลศึกษา มีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า
                      3.4  วิเคราะห์ความเหมาะสมของแบบประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติของครูพลศึกษาในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา  ตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ  เพื่อหาคุณภาพด้านความเที่ยงตรงของเนื้อหา  และความเป็นปรนัย โดยการวิเคราะห์ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ได้ภาพรวมของแบบประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติ มีความเหมาะสม อยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ย 4.02 
                       3.5  หาค่าความเชื่อมั่น  ของแบบประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติของครูพลศึกษาในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา โดยนำแบบประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติที่ได้หาคุณภาพความเที่ยงตรงของเนื้อหาแล้ว ไปทดลองใช้กับครูพลศึกษาที่เคยผ่านการอบรมเรื่องการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษามาแล้วและไม่ใช้กลุ่มตัวอย่าง  จำนวน 40 คน  หาค่าความเชื่อมั่น โดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์อัลฟา  (บุญเรียง  ขจรศิลป์, 2548: 60-61) ได้ค่าความเชื่อมั่น 0.74
                     3.6  วิเคราะห์ค่าอำนจจำแนก (r)  โดยการนำแบบปะเมินพฤติกรรมการปฏิบัติที่ได้หาคุณภาพด้านความเที่ยงตรงของเนื้อหาวิชาพลศึกษามาแล้ว  จำนวน 40 คน ได้ค่าอำนาจจำแนก (r)  ระหว่า 0.26-0.88
                4.  แบบประเมินเจตคติของครูพลศึกษาที่มีต่อการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษาผู้วิจัยมีขั้นตอนในการสร้าง ดังนี้
                     4.1   ศึกษาหลักการ  แนวคิด  ทฤษฎี การสร้างแบบประเมินเจตคติ  (บุญธรรม  กิจปรีดาบริสุทธิ์, 2540: 239-261)
                     4.2  สร้างแบบประเมินเจตคติของครูพลศึกษาที่มีต่อการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา  มีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (rating scales)
                    4.3  วิเคราะห์ความเหมาะสมของแบบประเมินเจตคคติของครูพลศึกษาที่มีต่อการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา  ระดับมัธยมศึกษา ตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาคุณภาพด้านความเที่ยงตรงของเนื้อหา (content validity)  โดยการวิเคราะห์ค่าเฉลี่ย  และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน  ได้ภาพความรวมของแบบประเมินเจตคติ ความเหมาะสม อยู่ในระดับมาก ทุกข้อ
                    4.4  วิเคราะห์ ค่าความเชื่อมั่น (reliability)  โดยการนำแบบประเมินเจตคติของครูพลศึกษาที่มีต่อการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา  ที่ได้หาคุณภาพด้านความเที่ยงตรงของเนื้อหาแล้ว ไปทดสอบกับครูพลศึกษาที่เคยผ่านการอบรมเรื่องการประเมินตรมสภาพจริงวิชาพลศึกษามาแล้ว จำนวน 40 คน หาค่าความเชื่อมั่น (reliability)                            ด้วยสูตรสัมระสิทธิ์อัลฟา ของ Cronbach (บุญเรียง  ขจรศิลป์, 2548: 60-61)  ได้ค่าความเชื่อมั่น 0.76
                    4.5  วิเคราะห์ค่าอำนาจจำแนก  (r)  โดยการนำแบบประเมินเจตคติของครูพลศึกษาที่มีต่อการประเมินตาม สภาพจริงวิชาพลศึกษา  ที่ได้หาคุณภาพด้านความเที่ยงตรงของเนื้อหาแล้วไปทดสอบกับครูพลศึกษาที่เคยผ่านการอบรมเรื่องการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษามาแล้ว จำนวน 40 คน ได้ค่าอำนาจจำแนก (r) ระหว่าง 0.20 – 0.54
                5.  แบบประเมินเจตคติของครูพลศึกษาที่มีต่อรูปแบบการพัฒนาครูในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา ระดับมัธยมศึกษา ผู้วิจัยมีขั้นตอนในการสร้าง ดังนี้
                    5.1  ศึกษาหลักการ  แนวคิด ทฤษฎี  การสร้างแบบประเมินเจตคติ (บุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธิ์, 2540: 239-261)
                    5.2  สร้างแบบประเมินเจตคติของครูพลศึกษาที่มีต่อรูปแบบการพัฒนาครูในการประมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา ระดับมัธยมศึกษา มีลักษณะเป็นแบบมาตรส่วนประมาณค่า (rating scales)
                    5.3  วิเคราะห์ความเหมาะสมของแบบประเมินเจตคติของครูพบศึกษาที่มีต่อรูปแบบการพัฒนาครูในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา ระดับมัธยมศึกษา   ตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ  เพื่อหาคุณภาพด้านความเที่ยงตรงของเนื้อหา (content validity)  โดยการวิเคราะห์ ค่าเฉลี่ย  และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ได้ภาพรวมของแบบประเมินเจตคติ  ความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย 4.2  
                   5.4  วิเคราะห์ค่าความเชื่อมั่น  โดยการนำแบบประเมินเจตคติของครูพลศึกษาที่มีต่อรูปแบบการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา  ระดับมัธยมศึกษา  ที่ได้หาคุณภาพด้านความเที่ยงตรงของเนื้อหาแล้ว  ไปทดสอบกับครูพบศึกษา ที่เคยศึกษาบทเรียนแบบโปรแกรมหรือเคยศึกษาแนวทางการศึกษาชุดวิชาของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชและผ่านการอบรมเรื่องการประเมินตรมสภาพจริงวิชาพลศึกษามาแล้ว  จำนวน 40 คน  หาค่าความเชื่อมั่น  ด้วยสูตรสัมประสิทธิ์อัลฟา (บุญเรียง  ขจรศิลป์, 2548: 60-61) ได้ค่าความเชื่อมั่น 0.72
                    5.5  วิเคราะห์ค่าอำนาจจำแนก (r)  โดยการนำแบบประเมินเจตคติของครูพลศึกษาที่มีต่อรูปแบบการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา  ระดับมัธยมศึกษา   ที่ได้หาคุณภาพด้านความเที่ยงตรงของเนื้อหาแล้ว  ไปทดสอบกับกับครูพลศึกษาที่เคยศึกษาบทเรียนแบบโปรแกรม หรือเคย ศึกษาแนวการศึกษาชุดวิชาของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชและผ่านการอบรมเรื่องการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษามาแล้ว จำนวน 40 คน ได้ค่าอำนาจจำแนก (r) ระหว่าง 0.20-0.44
                    ผู้วิจัยได้กำหนดรูปแบบการพัฒนาครูในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษาระดับมัธยมศึกษา  โดยการ   ใช้บทเรียนแบบโปรแกรม (programmed instruction) และการนิเทศแบบมีส่วมร่วม (collaborative supervision)              และเพื่อให้เห็นภาพของนวัตกรรมและวิธีการที่ใช้ในการดำเนินงานวิจัย  ซึ่งสรุปเป็นแผนภูมิได้ดังนี้
การศึกษาบทเรียนแบบโปรแกรม
การนิเทศการศึกษา
การศึกษาบทเรียนแบบโปรแกรมเรื่องการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา ระดับมัธยมศึกษา (programmed instruction)
วัตถุประสงค์
เพื่อให้ครูพลศึกษามีความรู้เรื่องการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา  ระดับมัธยมศึกษา
การใช้พฤติกรรมการนิเทศแบบมีส่วนร่วม (collaborative supervision)
วัตถุประสงค์
       1.  เพื่อให้คำแนะนำในการสร้างแบบประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา
       2.  เพื่อติดตามผลการใช้แบบประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา
       3. เพื่อประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา
       4. เพื่อประเมินเจตคติของครูพลศึกษา ที่มีต่อการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา
       5.  เพื่อประเมินเจตคติของครูพลศึกษาที่มีต่อรูปแบบการพัฒนาครูในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษาระดับมัธยมศึกษา โดยใช้บทเรียนแบบโปรแกรมและการนิเทศแบบมีส่วนร่วม
กิจกรรม
ครูพลศึกษาทำการศึกษาบทเรียนแบบโปรแกรมเรื่องการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา  ระดับมัธยมศึกษา โดปฏิบัติตามขั้นตอนของการศึกษาบทเรียนแบบโปรแกรม
กิจกรรม
       1.  ประชุมปรึกษาหารือ (conference) แลกเปลี่ยนความคิดเห็น
       2.  ประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติของครูพลศึกษาเกี่ยวกับการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา  โดยครูพลศึกษาประเมินตนเอง  และเมินโดยหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้
        3.  ประเมินเจตคติของครูพลศึกษาเกี่ยวกับการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา  และประเมินรูปแบบการพัฒนาครู
เครื่องมือ                                                                                               1. บทเรียนแบบโปรแกรมเรื่องการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา ระดับมัธยมศึกษา                                                         2.  แบบทดสอบความรู้ เรื่องการการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา
เครื่องมือ
       1.  แบบประเมินพฤตกรรมการปฏิบัติในการประเมินตมสภาพจริงวิชาพลศึกษา
        2.  แบบประเมินเจตคติของครูพลศึกษาที่มีต่อการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา
        3.  แบบประเมินเจตคติของครูพลศึกษาที่มีต่อรูปแบบการพัฒนาครู
ผลที่ได้
ครูพลศึกษามีความรู้เรื่องการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา
ผลที่ได้
       1. เกิดพัฒนาการด้านความรู้ พฤติกรรมการปฏิบัติและเจตคติของครูพลศึกษาที่มีต่อการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา
       2.    เจตคติของครูพลศึกษาที่มีต่อรูปแบบการพัฒนาครูอยู่ในระดับมาก

4.3  การเก็บรวบรวมข้อมูล
ผู้วิจัยได้ดำเนินการวิจัยดังนี้
1. ผู้วิจัยนำหนังสือราชการจากบัณฑิตวิทยาลัยถึงสำนักงานเขตพื้นที่สมุทรปราการ  เขต1 ขอความอนุเคราะห์แจ้งโรงเรียนเพื่อให้ผู้วิจัยเข้าไปเก็บรวบรวมข้อมูลจากครูพลศึกษา ที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง  จำนวน  5 โรงเรียน
2. ผู้วิจัยเข้าโรงเรียนด้วยตนเอง เพื่อแนะนำและชี้แจงวิธีการศึกษาบทเรียนแบบโปรแกรมเรื่องการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา ระดับมัธยมศึกษาให้กับครูพลศึกษาทั้งหมดจำนวน 29 คน โดยผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลจากการทดสอบของครูพลศึกษาก่อนศึกษาบทเรียนแบบโปรแกรม
3. ครูพลศึกษาจำนวน 29 คน ทำการศึกษาบทเรียนแบบโปรแกรม เรื่องการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา ระดับมัธยมศึกษา และส่งผลการศึกษาจากการทำกิจกรรมท้ายเรื่องและผลการทดสอบหลังศึกษาบทเรียนแบบโปรแกรมให้      กับผู้วิจัยหลังจากศึกษาบทเรียนแบบโปรแกรมเสร็จสิ้นเป็นรายบุคคล
4. ผู้วิจัยทำการนิเทศแบบมีส่วนร่วม โรงเรียนละ 3 ครั้ง และทำการนิเทศครบทั้ง 5 โรงเรียน ใช้เวลา 1 ภาคการศึกษา (เดือนพฤศจิกายน 2551-เดือนมีนาคม 2552)
5. ผู้วิจัยดำเนินการเก็บรวบรวมแบบประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติ แบบประเมินเจตคตที่มีต่อการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษา และแบบประเมินเจตคติที่มีต่อรูปแบบการพัฒนาครูในการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษาระดับมัธยมศึกษา และนำมาวิเคราะห์ผลทางสถิติ
5. สรุปผลการวิจัย
                ผลการวิจัยพบว่า 1)ประสิทธิภาพบทเรียนแบบโปรแกรมเรื่องการประเมินตามสภาพจริงวิชาพลศึกษาระดับมัธยมศึกษา เท่ากับ 80.06/80.57 2)ความสามารถของครูพลศึกษา ระดับมัธยมศึกษา ด้านความรู้ในการประเมินตามสภาพจริง หลังศึกษาบทเรียนแบบโปรแกรม เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01 ด้านพฤติกรรมการปฏิบัติและเจตคติของครูพลศึกษาที่มีต่อการประเมินตามสภาพจริง อยู่ในระดับดีมาก และ 3) เจตคติของครูพลศึกษา ระดับมัธยมศึกษาที่มีต่อรูปแบบการพัฒนาครูโดยการใช้บทเรียนแบบโปรแกรมและการนิเทศแลลมีส่วนร่วมอยู่ในระดับดีมาก
                สรุปได้ว่า การใช้บทเรียนแบบโปรแกรมและการนิเทศแบบมีส่วนร่วม PCo Model มีความเหมาะสมในการพัฒนาครูพลศึกษา ระดับมัธยม ในการประเมินตามสภาพจริง


วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

กีฬาแฮนด์บอลสนุกกว่าที่คิด...!

แฮนด์บอล (Handball)
เริ่มต้นมาจากประเทศเยอรมัน ในราวปลายศตวรรษที่ 19 โดยครูพลศึกษาคนหนึ่งชื่อ Konrad Koch ได้ริเริ่มและแนะนำกีฬาประเภทนี้ออกมาเผยแพร่ อย่างไรก็ตาม เกมแฮนด์บอลก็ยังไม่เป็นที่นิยมกว้างขวางเท่าที่ควร จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2447 แฮนด์บอลจึงได้มีการพัฒนาอย่างกว้างขวางขึ้นในภาคพื้นยุโรป มีการกำหนดระเบียบและกติกาการเล่นโดยอาศัยกติกาของฟุตบอลเป็นหลัก นักพลศึกษาชาวอเมริกากล่าวว่า กีฬาแฮนด์บอลน่าจะเป็นเกมกีฬาที่เก่าแก่ที่สุด เพราะมนุษย์นิยมใช้มือกับลูกบอลขว้างมาแต่โบราณแล้ว อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถจะเดาได้ว่าเกมนี้ได้วิวัฒนาการมาเป็นกีฬาแฮนด์บอลในปัจจุบันได้อย่างไร
ประเทศยุโรปในฤดูหนาวไม่สามารถเล่นกีฬากลางแจ้งได้ จึงใช้ห้องพลศึกษาดัดแปลงเล่นกีฬาฟุตบอลด้วยมือ ตอนแรกใช้ผู้เล่น 11 คนเท่ากับฟุตบอล แต่ไม่สะดวก เพราะสถานที่คับแคบ จึงลดจำนวนผู้เล่นเหลือข้างละ 7 คน จึงกลายมาเป็นกีฬาแฮนด์บอลแบบการเล่นในปัจจุบัน ในช่วงนั้นแฮนด์บอลมิได้ถือว่าเป็นกีฬาอย่างหนึ่ง เพราะไม่มีหน่วยงานเป็นของตนเอง แต่คณะกรรมการที่ก่อตั้งและดำเนินการก็มาจากสหพันธ์กีฬาสมัครเล่นระหว่างชาติ (The International Amateur Athletic Federation) มีชื่อย่อๆ ว่า I.A.A.F. คณะกรรมการชุดนี้เป็นคณะกรรมการที่มีหน้าที่จัดดำเนินการต่างๆ ในทวีปยุโรปสมัยนั้น
หลังจากปี พ.ศ. 2447 กีฬาแฮนด์บอลซึ่งอยู่ในความดูแลของ I.A.A.F. ก็มีความมั่นคงขึ้น และหลายๆ ประเทศให้ความสนใจ และมีการจัดบรรจุในรายการกิจกรรมการกีฬาของประเทศนั้นๆ ด้วย ตลอดจนได้มีการแข่งขันทั้งภายในและภายนอกประเทศมากขึ้น
ในปี พ.ศ. 2469 I.A.A.F. ได้ตั้งคณะกรรมการกีฬาแฮนด์บอลขึ้นโดยเฉพาะ โดยมีคณะกรรมการที่มาจากประเทศต่างๆ ในเครือสมาชิกของกีฬาประเภทนี้มีการประชุมตกลงเรื่องกติกาซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่กีฬาแฮนด์บอลได้ตั้งเป็นกีฬาประเภทหนึ่งโดยเอกเทศ และมีการริเริ่มตั้งสหพันธ์แฮนด์บอลขึ้นในปี พ.ศ. 2471 ประเทศกลุ่มสมาชิก 11 ประเทศได้เข้าร่วมประชุมในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศฮอลแลนด์ The International amateur Handball Federation ก็ได้จัดตั้งขึ้น และบุคคลที่มีความสำคัญของการกีฬาสหพันธ์คือ Every Brundage ประธานของ I.O.C. ได้เป็นสมาชิกขององค์การใหม่นี้ด้วย

ในปี พ.ศ. 2471 กีฬาแฮนด์บอลก็ได้มีการสาธิตขึ้นในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ต่อมาในปี พ.ศ. 2474 แฮนด์บอลก็ได้บรรจุเข้าเป็นรายการแข่งขันกีฬาระหว่างชาติ โดยการยอมรับของ I.O.C. หลังจากการประชุมที่กรุงอัมสเตอร์ดัม สมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ ก็ได้เพิ่มเป็น 25 ประเทศในปี พ.ศ. 2477 ซึ่งเป็นจุดที่ชี้ให้เห็นว่ากีฬาแฮนด์บอลได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ในปี พ.ศ. 2479 ก็ได้บรรจุเข้าแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน หรือที่เรียกว่า Nazi Olympic
สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สร้างปัญหาต่างๆ ให้กับการกีฬาเป็นอย่างมากแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการประชุมร่วมกันอีกครั้งหนึ่งที่โคเปนเฮเกน เพื่อที่จะฟื้นฟูกีฬาแฮนด์บอลขึ้นมาใหม่ แต่ก็ล้มเหลว จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2499 จึงได้มีการแก้ไขกติกาแฮนด์บอลขึ้นใหม่ และยอมรับทักษะการเล่นสมัยก่อน ซึ่งทำให้ลักษณะของการเล่นและกติกาเปลี่ยนแปลงไป โดยอาศัยกติกาของฟุตบอลและบาสเกตบอลมาผสมกัน
สมัยก่อนนิยมการเล่นแบบ 11 คน เช่นเดียวกับฟุตบอล แต่ในยุโรปตอนเหนือได้มีการเล่นแบบ 7 คน และเล่นกันในร่ม ตอนแรกๆ ก็ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก แต่ต่อมาการเล่นแฮนด์บอลแบบ 7 คน ก็เป็นที่นิยมแพร่หลายในยุโรป ทำให้การเล่นแบบ 11 คนได้หายไป ซึ่งในปัจจุบันทั่วโลกก็ยอมรับการเล่นแบบ 7 คน และจากผลของการวิจัยต่างๆ ปรากฏว่าแฮนด์บอลเป็นกีฬาที่มีความเร็วเป็นอันดับสองของโลกรองลงมาจากกีฬาฮอกกี้น้ำแข็ง เหตุที่แฮนด์บอล 7 คนนิยมเล่นในร่มก็อาจเป็นเพราะเนื้อที่สนามน้อย สามารถเล่นในที่แคบๆ ได้ และอีกอย่างก็คือสภาพของดินฟ้าอากาศในฤดูหนาวของทวีปยุโรปนั้นจะปกคลุมไปด้วยหิมะและน้ำแข็ง ดังนั้นแฮนด์บอลจึงไม่สามารถเล่นในสนามกลางแจ้งได้ ด้วยเหตุผลนี้แฮนด์บอลจึงเป็นที่นิยมเล่นกันในร่มหรือโรงยิมเนเซียมแทน
จากที่กล่าวมาแล้วจะเห็นว่ากีฬาแฮนด์บอลเป็นกีฬาของโลกอย่างหนึ่งเพราะการแข่งขันกีฬาสำคัญระหว่างชาติก็มีการแข่งแฮนด์บอลด้วย เช่น กีฬาเอเชียนเกมส์ ที่ประเทศอินเดีย เมื่อปี พ.ศ. 2525 ก็ได้มีการแข่งขันแฮนด์บอล หลังจากที่บรรจุไว้ในกีฬาโอลิมปิก เมื่อปี พ.ศ. 2479 แล้ว และในปี พ.ศ. 2516 ได้บรรจุในโปรแกรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่นครมิวนิค ประเทศเยอรมันตะวันตกด้วย

ประวัติแฮนด์บอลในประเทศไทย
กีฬาแฮนด์บอลได้นำเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482  โดยอาจารย์กอง     วิสุทธารมย์ อดีตอธิบดีกรมพลศึกษา ในสมัยนั้นแฮนด์บอลยังนิยมการเล่นแบบ 11 คนอยู่ แต่คนไทยเราไม่ค่อยจะนิยมเล่นกีฬาประเภทนี้กันเลยยกไป ซึ่งอาจเป็นเพราะประเทศไทยสามารถเล่นฟุตบอลได้ตลอดฤดูกาล กีฬาแฮนด์บอลจึงไม่เป็นที่นิยมเล่นดังกล่าว
ต่อมาในปี พ.ศ.2500 อาจารย์ชนิต คงมนต์ ได้ไปดูงานด้านพลศึกษาในประเทศเดนมาร์ก และสวีเดน ได้นำกีฬาแฮนด์บอลนี้มาเผยแพร่อีกครั้งหนึ่ง โดยเริ่มบรรจุเข้าสอนในโรงเรียนฝึกหัดครูพลานามัย และวิทยาลัยพลศึกษาก่อนที่อื่นเพื่อเป็นการทดลอง และต่อมาก็ได้เผยแพร่ไปตามโรงเรียนต่างๆ บ้าง แต่ก็ยังไม่กว้างขวางนัก
ปัจจุบันวิทยาลัยพลศึกษาทั่วประเทศได้บรรจุวิชาแฮนด์บอลไว้ในหลักสูตร ตลอดจนหลักสูตรประโยคมัธยมศึกษาตอนปลายของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2518 ได้กำหนดเป็นวิชาบังคับ จึงนับได้ว่ากีฬาแฮนด์บอลเป็นที่รู้จักและนิยมกันอย่างกว้างขวางในหมู่นักเรียนวิทยาลัยพลศึกษา และประชาชนคนไทยมากยิ่งขึ้น
แฮนด์บอลได้บรรจุเข้าแข่งขันในกีฬาของวิทยาลัยพลศึกษาทั่วประเทศที่กรมพลศึกษาเป็นเจ้าภาพ    เมื่อ พ.ศ. 2524 โดยการใช้กติกาการแข่งขันสากลฝ่ายละ 7 คน ปัจจุบัน นายปรีดา รอดโพธิ์ทอง อธิบดีกรมพลศึกษา ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า กีฬาแฮนด์บอลเป็นกีฬาที่มีความเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ และสภาพของคนไทย จึงได้ส่งเสริมและให้มีการฟื้นฟูกีฬาประเภทนี้ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยให้กองกีฬากรมพลศึกษาเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งจัดให้มีการอบรมผู้ฝึกสอน อบรมผู้ตัดสิน พร้อมทั้งจัดให้มีการแข่งขันกีฬาแฮนด์บอลในกีฬากรมพลศึกษาเป็นประจำทุก
กติกาแฮนด์บอล   สนามเล่นขนาดของสนาม
1. ขนาดของสนามเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดยาว 40 เมตร กว้าง 20 เมตร ด้านยาวเป็นสองเท่าของด้านข้าง (เส้นประตูด้านนอกรวมอยู่ในเส้นประตูด้วย) สนามเล่นแบ่งออกเป็นสองส่วน โดยมีเส้นกึ่งกลาง (เส้นแบ่งแดน) ลากขนานกับเส้นประตูและมีเขตประตูทั้งสองด้าน    ข้อกำหนดเกี่ยวกับขนาดและผิวของสนามแข่งขัน จะต้อง ไม่ทำให้เกิดการได้เปรียบกับทีมใดทีมหนึ่ง     หมายเหตุ เพื่อความปลอดภัยควรมีพื้นที่นอกสนามห่างจาก เส้นข้าง 1 เมตร และห่างจากประตู 2 เมตร
ประตู 2. ประตูแต่ละด้านต้องวางที่จุดกึ่งกลางด้านนอกของเส้นประตู แต่ละประตูมีขนาดสูง 2 เมตร และกว้าง 3 เมตร (โดยวัดจากขอบด้านใน)เสาประตูจะต้องตั้งอยู่กับพื้นอย่างมั่นคง และเชื่อมต่อด้วยคานประตูขอบหลังของเสาประตูจะต้องตั้งอยู่ที่ขอบนอกของเส้นประตู เสาประตู และคานประตู จะต้องมีขนาด 8 x 8 เซนติเมตร เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสทำด้วยวัสดุชนิดเดียวกัน (ไม้โลหะชนิดเบา หรือวัสดุสังเคราะห์อื่น ๆ ) และต้องทาสีทุกขนาดจำนวน 2 สี ที่ตัดกับสีของผนังด้านหลังประตู บริเวณที่เชื่อมต่อกันระหว่างเสาประตูกับคานประตูจะต้องทาเป็นสีเดียวกันตลอด โดยมีความยาว 28 เซนติเมตร และที่บริเวณอื่น ๆ ยาว 20 เซนติเมตร ประตูจะต้องมีตาข่ายขึงติดไว้ และเมื่อลูกบอลถูกขว้างไปแล้วจะไม่กระดอนออกมาอย่างทันทีทันใด    
3. เขตประตูให้ลากเส้นยาว 3 เมตร ขนานกับเส้นประตู ใช้ด้านในของเสาประตูแต่ละเสาทำเป็นจุดศูนย์กลางรัศมี 6 เมตร ลากจากเส้นประตูไปบรรจบกับเส้น 3 เมตร เป็น 1/4 ของวงกลมทั้งสองด้าน เส้นนี้เรียกว่าเส้นเขตประตู   
4. เส้นส่งลูกกินเปล่า (9 เมตร) เป็นเส้นไขปลาลากขนาดกับเส้นเขตประตู โดยห่างจากเส้นเขตประตู 3 เมตร       
5. เส้น 7 เมตร ลากเส้นยาว 1 เมตร ห่างจากเส้นประตู 7 เมตร ให้ขนานกับเส้นประตู และห่างจากเส้นข้างทั้งสองข้างเท่า ๆ กัน      
6. เส้นเขตผู้รักษาประตู ลากเส้นข้าง 15 เซนติเมตร ให้ขนานกับเส้นประตู และห่างจากเส้นประตู 4 เมตร เส้นนี้ให้อยู่ระหว่างกลางของเส้นข้างทั้งสองเส้น   
7. เส้นกลางสนาม ลากต่อจากจุดกึ่งกลางของเส้นข้างทั้งสองด้าน    
8. เส้นเปลี่ยนตัว ลากเส้นยาว 15 เซนติเมตร ที่เส้นข้างแต่ละด้านที่แบ่งโดยเส้นกลางสนาม แต่ละเส้นทำเป็นมุมฉากกับเส้นข้าง และอยู่ห่างจากเส้นกลางสนาม 4.50 เมตร   
9. เส้นทุกเส้นเป็นส่วนหนึ่งของเขตนั้น ๆ และกว้าง 5 เซนติเมตร และสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน     
10. เสาประตูต้องกว้าง 8 เซนติเมตร                                    
       เวลาการเล่น
1. เวลาการเล่นทั้งประเภทชายและหญิงที่มีอายุ 8 ปี หรือมากกว่า แบ่งออกเป็น 2 ครึ่ง ครึ่งละ 30 นาที พักระหว่างครึ่ง 10 นาที    
2. เวลาการเล่นจะเริ่มขึ้นเมื่อผู้ตัดสินประจำสนาม ให้สัญญาณนกหวีดหมดเวลา จะต้องทำโทษความผิดนั้นก่อน หลังจากนั้นจึงค่อยให้สัญญาณหมดเวลา ผู้ตัดสินประจำสนามเพียงคนเดียวที่สามารถหยุดเวลาการเล่นภายหลังจากมีการส่งลูกกินเปล่า หรือยิงลูกโทษ และประตูด้านข้าง   
3. ทั้งสองด้านทีมจะต้องเปลี่ยนแดนกันในครึ่งเวลาหลัง     
4. ผู้ตัดสินทั้งสองจะเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดว่าจะให้มีการหยุเล่นชั่วขณะหนึ่ง และจะให้เริ่มเล่นต่อเมื่อใด โดยจะต้องให้สัญญาณกับผู้จับเวลาว่าเมื่อไรจะให้หยุดนาฬิกา (ขอเวลานอก) และจะเริ่มเมื่อไรการหยุดเวลาการเล่น และการขอเวลานอก จะต้องแสดงให้ผู้จับเวลาทราบ โดยการเป่านกหวัดสั้น ๆ 3 ครั้ง และให้สัญญาณมือรูปตัว T สัญญาณนกหวัดจะต้องเป่าเพื่อแสดงให้เริ่มการเล่นใหม่ภายหลังจากการขอเวลานอกหมายเหตุ ถ้าจะให้ดีควรใช้นาฬิกาที่แสดงให้ทุกคนเห็นได้ แต่จะต้องควบคุมได้จากโต๊ะผู้จับเวลาเท่านั้น แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ ผู้จับเวลาควรใช้นาฬิกาตั้งโต๊ะหรือนาฬิกาจับเวลา ผู้จับเวลาจะต้องหยุดเวลาเมื่อผู้ตัดสินขอเวลานอกและจะต้องเริ่มเวลาใหม่เมื่อผู้ตัดสินให้สัญญาณนกหวีด       
5. ถ้าเวลาการเล่นได้หมดลง ผู้จับเวลาจะต้องคอยจนกว่าการส่งลูกกินเปล่าหรือยิงลูกโทษได้เสร็จสิ้นลง จึงจะให้สัญญาณครั้งสุดท้าย      
6. ถ้าผู้ตัดสินพิจารณาเห็นว่าผู้จับเวลาได้ให้สัญญาณหมดเวลาก่อนกำหนด เขาต้องให้ผู้เล่นทั้งหมดอยู่ในสนามและเล่นต่อไป ทีมที่เสียเปรียบจากการให้สัญญาณหมดเวลาจะได้เป็นผู้ครอบครองลูกบอล ถ้าเวลาในครึ่งแรกจบช้าเกินไป เวลาในครึ่งหลังต้องตัดลงให้น้อยกว่าเดิมตามที่เป็นไปนั้น   
7. เมื่อหมดเวลาในช่วงปกติแล้วผลยังเสมอกัน กติกาการแข่งขันได้กำหนดการหาผู้ชนะ โดยให้ทำการเสี่ยงหลังจากพัก 5 นาที เพื่อเลือกส่งหรือเลือกแดน สำหรับเล่นในเวลาเพิ่มพิเศษ โดยช่วงเวลาที่เพิ่มพิเศษจะแบ่งเป็น 2 ครึ่ง ครึ่งละ 5 นาที (เปลี่ยนแดนกันในครึ่งเวลา โดยไม่มีเวลาพัก) ถ้าผลยังเสมอกันอีก ก็ให้ต่อเวลาเพิ่มพิเศษในช่วงที่ 2 โดยให้ทำการเสี่ยงเพื่อเลือกแดน และการแข่งขันจะไม่มีเวลาพักในช่วงเวลาเพิ่มพิเศษ       ถ้าผลจากการต่อเวลาเพิ่มพิเศษในช่วงที่ 2 ยังคงเสมอกันอีก ให้ประยุกต์กติกานี้เพื่อหาผู้ชนะ                                     
ลูกบอล
1. ลูกบอลจะต้องทำด้วยหนังหรือวัสดุเทียม และเป็นรูปทรงกลม ผิวของลูกบอลต้องไม่สะท้อนแสงหรือลื่น    
2. ลูกบอลเมื่อวัดโดยรอบก่อนการแข่งขัน ในประเภทชายมีเส้นรอบวงระหว่าง 58-60 เซนติเมตร หนัก 425-475 กรัม สำหรับประเภทหญิงจะมีเส้นรอบวงระหว่าง 54-56 เซนติเมตร หนัก 325-400 กรัม     
3. การแข่งขันแต่ละครั้งต้องมีลูกบอลที่ถูกต้องตามกติกาไว้ 2 ลูก   
4. เมื่อการแข่งขันเริ่มขึ้น จะสามารถเปลี่ยนลูกบอลได้เมื่อมีเหตุผลอันสมควรเท่านั้น   
5. ลูกบอลที่มีเครื่องหมายรับรองของสหพันธ์แฮนด์บอลนานาชาติ (IHF) เท่านั้น จึงจะสามารถใช้สำหรับการแข่งขันระดับนานาชาติได้
ผู้เล่น      
1. ทีมหนึ่งประกอบด้วยผู้เล่น 12 คน (ผู้เล่นในสนาม 10 คน ผู้รักษาประตู 2 คน) ซึ่งต้องมีชื่ออยู่ในใบบันทึก ตลอดเวลาการแข่งขันจะต้องมีผู้รักษาประตูการแข่งขันตะต้องมีผู้เล่นฝ่ายละไม่เกิน 7 คน (เป็นผู้เล่นในสนาม 6 คน และผู้รักษาประตู 1 คน) ทุกคนสามารถร่วมเล่นในสนามได้ตลอดเวลา ส่วนที่เหลือคือผู้เล่นสำรองเฉพาะผู้เล่นสำรองและผู้เล่นที่ถูกสั่งพักรวมทั้งเจ้าหน้าที่อีก 4 คน เท่านั้นที่อนุญาตให้นั่งอยู่ในบริเวณเขตผู้เล่นสำรอง ซึ่งเจ้าหน้าที่นี้ต้องมีชื่ออยู่ในใบบันทึก และมีคนหนึ่งที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผุ้รับผิดชอบต่อทีม โดยเจ้าหน้าที่คนนี้เท่านั้นที่สามรถแสดงตนกับผู้บันทึก ผู้จับเวลา และผู้ตัดสินได้ (ถ้าจำเป็น)
2. ในการเริ่มต้นแข่งขัน ทั้งสองฝ่ายต้องมีผู้เล่นอย่างน้อยฝ่ายละ 5 คน โดยมี 1 คน ที่มีชื่อในใบบันทึกว่าเป็นผู้รักษาประตูตลอดเวลาการแข่งขัน รวมทั้งเวลาเพิ่มพิเศษ จำนวนผู้เล่นจะสามารถเพิ่มขึ้นจนถึง 12 คนได้ และการแข่งขันจะดำเนินต่อไป
3.ผู้เล่นที่มีสิทธิ์เข้าเล่นสามารถเข้าเล่นในสนามได้ทุกเวลา ณ บริเวณเส้นการเปลี่ยนตัวของทีมตนเองผู้เล่นที่มาถึงสนามหลังจากการแข่งขันได้เริ่มไปแล้วจะต้องได้รับการอนุญาตให้เข้าเล่นได้จากผู้บันทึกหรือผู้จับเวลาก่อน ถ้าผู้เล่นที่ไม่มีสิทธิ์เข้าเล่นได้ลงในสนาม ฝ่ายตรงกันข้าม จะได้ส่งลูกกินเปล่า และผู้เล่นนั้นจะถูกตัดสิทธิ์การแข่งขัน
4. ผู้เล่นสำรองสามารถเข้าเล่นได้ทุกเวลา โดยไม่ต้องแจ้งต่อผู้บันทึกผู้จับเวลา โดยผู้เล่นในสนามได้ออกจากสนามเรียบร้อยแล้ว ในกรณีนี้จะใช้รวมถึงการเปลี่ยนตัวผู้รักษาประตูด้วย ผู้เล่นทุกคนจะสามารถเข้าหรือออกจากสนามได้เฉพาะในส่วนบริเวณเส้นเปลี่ยนตัวของฝ่ายตนเองเท่านั้นในระหว่างการขอเวลานอก การเข้าสนามจะสามารถเข้าได้เฉพาะในช่วงเขตการเปลี่ยนตัว โดยการอนุญาตจากผู้ตัดสิน    หมายเหตุ ผู้เล่นที่ออกหรือเข้าสนามโดยไม่ถูกต้องจะถูกทำโทษตามกติกาการผิดระเบียบการเปลี่ยนตัว นอกจากการออกนอกสนามโดยไม่ตั้งใจ  
5. การเปลี่ยนตัวที่ไม่ถูกต้องจะถูกลงโทษโดยการส่งลูกกินเปล่า ณ จุดที่ผู้เล่นสำรองได้เข้าสนาม และลงโทษผู้เล่นที่เข้าไปในสนาม โดยการให้พัก 2 นาที ถ้าการเปลี่ยนตัวที่ไม่ถูกต้องได้ทำในขณะหยุดการแข่งขัน ผู้เล่นนั้นจะถูกสั่งพัก 2 นาที และเริ่มเล่นใหม่โดยการส่ง ณจุดที่การเล่นได้หยุดลงตามความเหมาะสมถ้ามีการกระทำใด ๆ เกี่ยวกับการไม่มีน้ำใจเป็นนักกีฬา หรือการก้าวร้าวอย่างใดอย่างหนึ่ง อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนตัวที่ผิดระเบียบ หรืออื่น ๆ ผู้เล่นนั้นจะถูกตัดสิทธิ์ หรือให้ออกจากการแข่งขันตามความเหมาะสม    
6. ถ้าผู้เล่นเข้าไปในสนามเกินจำนวนซึ่งเป็นการผิดกติกานั้น ผู้เล่นนั้นจะถูกสั่งพัก 2 นาที และผู้เล่นอื่นอีก 1 คน จะต้องออกจากสนามไป 2 นาทีด้วย เช่นกัน  ถ้าผู้เล่นที่ถูกสั่งพักเข้าไปในสนามขณะช่วงเวลาสั่งพัก เขาจะต้องออกจากสนามและถูกสั่งพักเพิ่มอีก 2 นาที และผู้เล่นอื่นอีก 1 คน จะต้องออกจากสนามเพื่อไปพักในช่วงเวลาการสั่งพักด้วย โดยเจ้าหน้าที่ของทีมจะต้องเป็นผู้กำหนดว่าจะให้ใครออกจากสนาม    
7. ผู้เล่นแต่ละทีมที่อยู่ใสนามทุกคนจะต้องใส่เสื้อที่มีสีเดียวกัน แต่ต้องแตกต่างจากสีเสื้อของผู้รักษาประตูทั้งสองทีม ผู้เล่นจะต้องใส่เสื้อที่มีหมายเลขตั้งแต่ 1-20 โดยให้หมายเลข 1, 12 และ 16 เป็นหมายเลขของผู้รักษาประตู ซึ่งที่ด้านหลังเสื้อมีขนาดสูงอย่างน้อย 20 เซนติเมตร และที่ด้านหน้ามีขนาดสูงอย่างน้อย 10 เซนติเมตร หมายเลขเสื้อนี้จะต้องมีสีที่แตกต่างจากสีเสื้อผู้เล่นควรสวมรองเท้ากีฬา และห้ามผู้เล่นสวมกำไล นาฬิกา แหวน สร้อยคอ ต่างหู แว่นตาที่ไม่มีกรอบนอกหรือเชือกที่จะทำให้แน่น และอุปกรณ์ที่อาจจะเป็นอันตรายต่อผู้เล่นอื่น ๆ ผู้เล่นที่ไม่สามารถถอดสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าว จะไม่ได้รับอนุญาตให้ลงเล่นจนกว่าจะถอดออกให้เรียบร้อยหัวหน้าทีมของแต่ละทีม จะต้องสวมปลอกแขนที่มีขนาดกว้าง 4 เซนติเมตร ที่แขนท่อนบน และสีของปลอกแขนจะต้องแตกต่างจากสีเสื้อด้วย

ผู้รักษาประตู    
1. ผู้รักษาประตูจะต้องไม่เปลี่ยนเป็นผู้เล่นในสนาม แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เล่นในสนามอาจเปลี่ยนเป็นผู้รักษาประตูได้ ซึ่งผู้บันทึก/ผู้จับเวลา จะต้องได้รับแจ้งเสียก่อน ถ้าผู้เล่นในสนามจะเข้าแทนผู้รักษาประตู โดยผู้เล่นในสนามที่จะเปลี่ยนเข้าแทนผู้รักษาประตู จะต้องเปลี่ยนเสื้อก่อนที่จะเข้าไป ณ บริเวณเขตการเปลี่ยนตัว   
ผู้รักษาประตูสามารถกระทำดังต่อไปนี้
2. ถูกลูกบอลด้วยส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ในขณะที่อยู่ในลักษณะการป้องกันภายในเขตประตู
3. เคลื่อนที่ไปพร้อมกับลูกบอลภายในเขตประตู โดยปราศจากข้อจำกัดผู้รักษาประตู
4. ออกจากเขตประตูโดยมิได้นำลูกบอลออกมา และสามารถเข้าร่วมเล่นในสนามบริเวณเขตสนามเล่นได้ โดยต้องปฏิบัติตามกติกาเช่นเดียวกับผู้เล่นในสนามคนอื่น ๆการจะพิจารณาว่าผู้รักษาประตูได้ออกจากเขตประตูเมื่อทันทีที่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ถูกพื้นสนามนอกเส้นเขตประตู
5. ในลักษณะที่ทำการป้องกัน และไม่สามารถครอบครองลูกบอลได้อย่างสมบูรณ์ เขาสามารถออกจากเขตประตูและเล่นลูกนอกนั้นได้อีก ห้ามผู้รักษาประตูกระทำการดังต่อไปนี้  
6. ทำการป้องกันในลักษณะที่เป็นอันตรายต่อคู่ต่อสู้
7. เจตนาทำให้ลูกบอลข้ามออกนอกเส้นประตู ในลักษณะที่สามารถครอบครองลูกบอลนั้นได้
8. ออกจากเขตประตูพร้อมกับลูกบอล
9. ถูกลูกบอลนอกเขตประตูภายหลังจากได้ส่งลูกบอลจากประตูไปแล้วนอกจากลูกบอลจะได้ถูกผู้เล่นคนอื่น ๆ ก่อน
10. ถูกลูกบอลที่วางหรือกลิ้งอยู่นอกเส้นเขตประตูในขณะที่ตัวอยู่ในเขตประตู
11. นำลูกบอลที่วางหรือกลิ้งอยู่นอกเส้นเขตประตูเข้าไปในเขตประตู
12. กลับเข้าไปในเขตประตูพร้อมกับลูกบอล
13. ถูกลูกบอลด้วยเท้าหรือขา ในขณะที่ลูกบอลกำลังเคลื่อนไปในสนามเล่น หรือในขณะที่ลูกบอลวางอยู่ในเขตประตู
14. สัมผัสหรือข้ามเส้นเขตรักษาประตู (เส้น 4 เมตร) ก่อนที่ลูกบอลจะออกจากมือผู้ยิงลูกโทษในขณะที่มีการยิงลูกโทษ    หมายเหตุ ในขณะที่ผู้รักษาประตูยืนที่พื้นด้วยเท้าหนึ่งหลังเส้นเขตผู้รักษาประตู (เส้น 4 เมตร) เขาสามารถที่จะเคลื่อนเท้า หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกายล้ำเหนือเส้นได้            
การเข้าเล่นกับฝ่ายตรงกันข้าม
อนุญาตให้ผู้เล่นกระทำดังนี้    
1. ใช้มือหรือแขนเพื่อประโยชน์ในการครอบครองลูกบอล  
2. แบมือเล่นลูกบอลจากคู่ต่อสู้ได้ทุกทิศทาง
3. ใช้ลำตัวบังคู่ต่อสู้ ถ้าคู่ต่อสู้ไม่ได้เป็นฝ่ายครอบครองลูกบอล
ไม่อนุญาตให้ผู้เล่นกระทำดังนี้
4. กีดกันคู่ต่อสู้ด้วยมือ แขน หรือ ขา   
5. ผลักคู่ต่อสู้ให้เข้าไปในเขตประตู
6. ดึงหรือตีลูกบอลด้วยมือเดียวหรือสองมือให้ออกจากมือคู่ต่อสู้ที่ครอบครองลูกบอลอยู่
7. ใช้กำปั้นทุบลูกบอลจากคู่ต่อสู้
8. ใช้ลูกบอลทำให้คู่ต่อสู้เกิดอันตราย
9. ทำให้ผู้รักษาประตูเกิดอันตราย
10. ดึงคู่ต่อสู้ด้วยมือเดียวหรือสองมือ หรือผลักคู่ต่อสู้
11. วิ่งเข้าหา กระโดดเข้าหา ทำให้ล้ม ตีหรือขู่คู่ต่อสู้ในทุก ๆ ทาง
12. ทำให้ฟาวล์เกี่ยวกับการเล่นกับฝ่ายตรงข้าม จะถูกลงโทษโดยการส่งลูกกินเปล่า หรือให้ยิงลูกโทษ
13. การทำฟาวล์เกี่ยวกับการเข้าเล่นกับฝ่ายตรงข้าม การกระทำฟาวล์ในลักษณะดังกล่าว เว้นแต่การเข้าหาคู่ต่อสู้โดยที่มิได้ครอบครองลูกบอลจะถูกลงโทษซ้ำ การถูกลงโทษซ้ำให้พิจารณาถึงการกระทำที่ไม่มีน้ำใจเป็นนักกีฬาด้วย
14. การทำฟาวล์ที่ร้ายแรงเกี่ยวกับการเข้าเล่นกับฝ่ายตรงข้าม หรือลักษณะการกระทำที่ไม่มีน้ำใจเป็นนักกีฬาจะต้องถูกลงโทษโดยการตัดสิทธิ์ผู้เล่นคนนั้น15. ผู้เล่นที่ทำร้ายผู้อื่นในสนามจะถูกไล่ออก
การได้ประตู    
1. จะนับได้ว่าประตูเมื่อลูกบอลทั้งลูกได้ผ่านเข้าไปในเส้นประตู โดยผู้ทำประตูหรือเพื่อนร่วมทีม และไม่ได้ทำผิดกติกาทั้งก่อนหรือหลังการยิงประตู ถ้าผู้เล่นฝ่ายป้องกันพยายามป้องกันอย่างผิดกติกา และลูกบอลยังคงผ่านเข้าไปในเขตประตูให้ถือว่าได้ประตู แต่ถ้าผู้ตัดสินหรือผู้จับเวลาได้เป่านกหวีดก่อนที่ลูกบอลทั้งลูกจะผ่านเข้าไปในประตู ให้ถือว่าไม่ได้ประตูถ้าผู้เล่นฝ่ายป้องกันขว้างลูกบอลเข้าประตูตนเอง ให้นับเป็นประตูของฝ่ายตรงข้าม นอกจากลูกบอลได้ออกนอกเส้นประตูไปก่อนหมายเหตุ ถ้าลูกบอลถูกป้องกันการเข้าประตูโดยบุคคลอื่น ๆ หรือสิ่งอื่น ๆ ที่อยู่ในสนาม (เจ้าหน้าที่ ผู้ชม ฯลฯ) ผู้ตัดสินจะต้องให้ได้ประตู ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าถ้าไม่มีเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้น ลูกบอลต้องผ่านเข้าไปในเส้นประตูอย่างแน่นอน
2. ถ้าผู้ตัดสินได้ตัดสินให้ได้ประตู และได้เป่านกหวีดส่งเริ่มเล่นต่อไปใหม่แล้ว ประตูนั้นจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้
3. ทีมที่ทำประตูได้มากกว่าอีกทีมหนึ่งคือ ผู้ชนะการแข่งขัน4. ถ้าทั้งสองทีมทำประตูได้เท่ากันหรือไม่ได้ประตูเหมือนกัน ให้ถือว่าเสมอกัน
การส่งเริ่มเล่น 
1. การส่งเริ่มเล่นเมื่อเริ่มการแข่งขันจะทำโดยทีมที่ชนะการเสี่ยงและเลือกเริ่มเล่น โดยเป็นฝ่ายครอบครองลูกบอล หรือทีมที่คู่ต่อสู้ชนะการเสี่ยงและเลือกแดน การส่งเริ่มเล่นในครึ่งเวลาหลังจะทำโดยทีมอีกทีมหนึ่ง เมื่อมีการเพิ่มเวลาพิเศษให้ทำการเสี่ยงใหม่
2. หลังจากมีการได้ประตู การเล่นจะเริ่มใหม่โดยการส่งเริ่มเล่นจากทีมที่เสียประตู
3. การส่งเริ่มเล่น จะทำที่จุดกึ่งกลางสนามในทิศทางใด ๆ ก็ได้หลังจากที่ผู้ตัดสินเป่านกหวีด โดยการส่งเริ่มเล่นจะต้องทำภายในเวลา 3 วินาที
4. ผู้เล่นทุกคนต้องอยู่ในแดนครึ่งสนามของตนเองในขณะที่มีการส่งเริ่มเล่น และผู้เล่นฝ่ายตรงกันข้ามจะต้องอยู่ห่างจากผู้ส่งลูกเริ่มเล่นอย่างน้อย 3 เมตร
การส่งลูกเข้าเล่น
1. จะตัดสินให้ส่งลูกเข้าเล่น ถ้าลูกบอลทั้งลูกได้ผ่านเส้นข้าง หรือลูกบอลได้ถูกผู้เล่นในสนามของฝ่ายรับเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่ลูกนั้นจะออกข้ามเส้นประตูไป
2. การส่งลูกเข้าเล่น จะส่งโดยผู้เล่นฝ่ายที่มิได้ถูกลูกบอลเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่ลูกบอลจะข้ามเส้นข้างหรือเส้นประตู โดยผู้ตัดสินไม่ต้องใช้สัญญาณนกหวีด
3. การส่งลูกเข้าเล่น ให้ส่ง ณ บริเวณที่ลูกบอลได้ข้ามเส้นข้าง หรือที่บริเวณปลายเส้นข้างด้านที่ลูกบอลได้ออกนอกเส้นประตู
4. ผู้เล่นที่ส่งลูกเข้าเล่นจะต้องมีเท้าข้างหนึ่งอยู่บนเส้นข้าง จนกระทั่งลูกบอลได้หลุดออกจากมือไปแล้ว โดยผู้เล่นคนนี้จะทุ่มลูกลงบนพื้นและเก็บขึ้นมาอีกครั้ง หรือเลี้ยงลูกบอลแล้วจับอีกครั้งไม่ได้
5. ขณะที่มีการส่งลูกเข้าเล่น ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามจะต้องยืนอยู่ห่างจากผู้ส่งลูกเข้าเล่นอย่างน้อย 3 เมตร แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีสถานการณ์อื่น ๆ ที่อนุญาตให้ผู้เล่นยืนอยู่ใกล้นอกเส้นเขตประตูได้ ถ้าระยะทางนั้นมีน้อยกว่า 3 เมตร
การส่งจากประตู
1. การส่งจากประตูจะทำเมื่อลูกบอลได้ข้ามออกนอกเส้นประตู
2. การส่งจากประตู จะส่งจากเขตประตูเหนือเส้นเขตประตู โดยไม่ต้องมีสัญญาณนกหวีดจากผู้ตัดสิน การพิจารณาว่าเป็นการส่งจากประตูคือ เมื่อลูกบอลได้ถูกส่งโดยผู้รักษาประตู และข้ามเส้นเขตประตูโดยสมบูรณ์
3. ถ้าลูกบอลอยู่ในเขตประตู ผู้รักษาประตูจะต้องนำลูกบอลนั้นกลับเข้าสู่การเล่น
4. ผู้รักษาประตูจะต้องไม่ถูกลูกบอลนั้นอีกหลังจากการส่งจากประตู จนกระทั่งลูกบอลได้ถูกผู้เล่นคนอื่น ๆ แล้ว
การโยนลูกของผู้ตัดสิน
1. การเล่นจะเริ่มขึ้นใหม่โดยการโยนลูกของผู้ตัดสิน ถ้า
1.1 การเล่นต้องหยุดลงเนื่องจากทั้งสองทีมทำผิดกติกาพร้อม ๆ กัน
1.2 ลูกบอลถูกเพดานหรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่อยู่เหนือสนาม
1.3 การเล่นได้หยุดลงโดยไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำผิดกติกา และไม่มีฝ่ายใดได้ครอบครองลูกบอล
2. ผู้ตัดสินในสนามจะโยนลูกบอลขึ้นตรงในแนวดิ่ง โดยไม่ต้องให้สัญญาณนกหวีด ณ จุดที่ลูกบอลได้หยุดการเล่นลงถ้าจุดนั้นอยู่ระหว่างเส้นเขตประตูกับเส้นเขตส่งลูกกินเปล่า หรือในเขตประตูให้ผู้ตัดสินโยนลูกบอล ณ จุดที่ใกล้กับจุดนั้นที่สุดนอกเส้นส่งกินเปล่า การโยนลูกจากผู้ตัดสินภายหลังจากการขอเวลานอก ให้โยนภายหลังสัญญาณนกหวีดจากผู้ตัดสิน
3. ในขณะที่ผู้ตัดสินทำการโยนลูกบอล ผู้เล่นทุกคน (ยกเว้นผู้กระโดด) จะต้องอยู่ห่างจากจุดที่ผู้ตัดสินโยนลูกบอลอย่างน้อย 3 เมตร ผู้เล่นที่จะเป็นผู้กระโดดต้องยืนต่อจากผู้ตัดสินทางด้านที่ใกล้กับประตูของตนเอง และจะเล่นลูกบอลได้เมื่อลูกบอลได้ถูกส่งขึ้นในจุดสูงสุด
ก่อนการแข่งขัน
1. จะทำการเตือนสำหรับการกระทำที่ไม่มีน้ำใจเป็นนักกีฬา
2. การกระทำที่ไม่มีน้ำใจเป็นนักกีฬาหรือการก้าวร้าว จะถูกพิจารณาตัดสิทธิ์การแข่งขัน แต่จะอนุญาตให้ทีมนั้นเริ่มเล่นด้วยผู้เล่นเต็ม 12 คน ระหว่างการแข่งขัน
3. จะทำการเตือนสำหรับการกระทำที่ไม่มีน้ำใจเป็นนักกีฬา
4. การกระทำที่ไม่มีน้ำใจเป็นนักกีฬาหรือการก้าวร้าวซ้ำ จะถูกพิจารณาลงโทษตัดสิทธิ์การแข่งขันภายหลังการแข่งขัน
5. เขียนรายงานให้ทราบ
ผู้ตัดสิน
1. ผู้ตัดสินทั้งสองคนมีอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น โดยมีผู้ช่วยคือ ผู้บันทึก และผู้จับเวลา
2. ผู้ตัดสินมีอำนาจว่ากล่าวการกระทำของผู้เล่น ตั้งแต่เริ่มเข้าสนามจนถึงออกจากสนามแข่งขัน
3. ผู้ตัดสินมีหน้าที่รับผิดชอบในการสำรวจสนามแข่งขัน ประตู และลูกบอลก่อนการแข่งขัน และจะเป็นผู้พิจารณาว่าลูกบอลลูกใดที่จะใช้ในการแข่งขันได้ในกรณีที่ไม่สามารถตกลงกันได้ จะพิจารณาใช้ข้อเสนอของผู้ตัดสินที่มีชื่อแรกผู้ตัดสินทั้งสองจะเป็นผู้พิจารณาถึงชุดแข่งขันของทั้งสองทีม สำรวจใบบันทึกและอุปกรณ์ของผู้เล่น สำรวจการเปลี่ยนตัวในเขตการเปลี่ยนตัว และรวมถึงการพิจารณาให้เจ้าหน้าที่ประจำทีมนั้นเป็นผู้รับผิดชอบทีมตนเอง
4. ผู้ตัดสินที่มีชื่อแรกจะเป็นผู้เสี่ยงก่อนการแข่งขันต่อหน้าผู้ตัดสินอีกคนหนึ่ง และหัวหน้าทีมทั้งสอง
5. การเริ่มการแข่งขัน ผู้ตัดสินที่มีชื่อเป็นลำดับที่สอง จะทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินประจำสนาม และอยู่ด้านหลังของทีมที่จะส่งลูกเริ่มเล่น
ผู้ตัดสินประจำสนามจะเป็นผู้ให้สัญญาณนกหวัดให้ส่งลูกเริ่มเล่น และเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งได้ครอบครองลูกบอล ผู้ตัดสินที่มีชื่อเป็นลำดับที่สองจะไปทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินประจำเส้นประตูทางด้านที่เขาอยู่ ส่วนผู้ตัดสินอีกคนหนึ่งที่เป็นผู้ตัดสินประจำเส้นประตู เมื่อส่งลูกเริ่มเล่น ก็จะกลับมาเป็นผู้ตัดสินประจำสนามเมื่อทีมที่อยู่ทางด้านของเขาเป็นฝ่ายครอบครองลูกบอล ผู้ตัดสินต้องเปลี่ยนแดนกันเมื่อหมดเวลาแต่ละช่วงการแข่งขัน
6. การแข่งขันจะต้องควบคุมโดยผู้ตัดสินสองคนที่มีความรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อให้การเล่นมีความถูกต้องเป็นไปตามกติกา และจะต้องทำโทษผู้ทำผิดกติกา ถ้ามีผู้ตัดสินคนใดคนหนึ่งไม่สามารถทำหน้าที่จนจบการแข่งขันได้ ผู้ตัดสินอีกคนหนึ่งจะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปโดยลำพัง
7. ผู้ตัดสินประจำสนามจะเป่านกหวีดเมื่อ
8. ถ้าผู้ตัดสินทั้งสองคนตัดสินเกี่ยวกับการลงโทษทีมเดียวกันในเวลาเดียวกัน แต่มีความเห็นเกี่ยวกับการลงโทษที่แตกต่างกัน ให้พิจารณาโทษที่รุนแรงกว่าเป็นเกณฑ์บังคับ
9. ถ้าผู้ตัดสินทั้งสองคนหยุดเกมการเล่นพร้อมกัน แต่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันว่าทีมใดควรจะถูกลงโทษ ให้พิจารณาการตัดสินของผู้ตัดสินประจำสนามเป็นหลัก โดยผู้ตัดสินประจำสนามจะให้สัญญาณมืออย่างชัดแจ้ง และให้เริ่มเล่นใหม่โดยสัญญาณนกหวีด
10. ผู้ตัดสินทั้งสองมีหน้าที่รับผิดชอบในการควบคุมคะแนน รวมทั้งต้องบันทึกเกี่ยวกับการเตือน การสั่งพัก การตัดสิทธิ์การแข่งขัน และการไล่ออกจากการแข่งขัน
11. ผู้ตัดสินทั้งสองมีหน้าที่รับผิดชอบในการควบคุมเวลาการแข่งขัน ถ้ามีความขัดแย้งกันเกี่ยวกับการควบคุมเวลาการแข่งขัน ผู้ตัดสินที่มีชื่อเป็นอันดับแรกจะเป็นผู้ตัดสินเวลาที่ถูกต้อง
12. ภายหลังจากการแข่งขัน ผู้ตัดสินทั้งสองมีหน้าที่รับผิดชอบในการเก็บรวบรวมใบบันทึกที่สมบูรณ์ถูกต้อง
13. การตัดสินของผู้ตัดสินทั้งสองจะพิจารณาจากการกระทำ และถือเป็นเด็ดขาดการอุทธรณ์การตัดสินจะทำได้เฉพาะที่ไม่เป็นไปตามกติกาเท่านั้น ในขณะแข่งขัน หัวหน้าทีมเท่านั้นที่มีสิทธิ์ติดต่อกับผู้ตัดสินได้
14. ผู้ตัดสินทั้งสองคนมีอำนาจที่จะหยุดการแข่งขันชั่วขณะหนึ่ง หรือสามารถยุติการแข่งขันได้ แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องพยายามดำเนินการแข่งขันต่อไปก่อนที่จะมีการตัดสินให้ยุติการแข่งขัน
15. ผู้ตัดสินจะต้องใช้ชุดสีดำล้วน เป็นชุดแต่งกายของผู้ตัดสิน


ขอขอบคุณสำหรับข้อมูล
ที่มา : www.siamsport.co.th